งานแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจังหวัดปัตตานีมีทุกปีหลังตรุษจีนไป ๑๔ วัน เป็นงานที่ชาวจีนและชาวไทยทั่วประเทศ รวมทั้งชาวจีนในประเทศใกล้เคียงให้ความสนใจมาชมมากที่สุดของจังหวัดปัตตานี มาด้วยความเลื่อมใสและศรัทธาต่อความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ในงานดังกล่าวจะมีพิธีลุยน้ำข้ามแม่น้ำปัตตานี และมีพิธีลุยไฟที่ตื่นเต้นเร้าใจ

คนทั่วไปรู้ประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาอย่างสั้นๆ และบางครั้งก็ไม่ค่อยตรงกันนัก ในฐานะที่เป็นคนในตระกูล “คณานุรักษ์” และได้รับการขอร้องจากญาติคือคุณสุวิทย์ คณานุรักษ์ ที่อยากให้คนทั่วไปได้รู้ประวัติของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่ละเอียดถูกต้อง รวมทั้งผู้ที่สร้างศาลเจ้าเป็นครั้งแรกให้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประทับนั้นเป็นคนในต้นตระกูล คณานุรักษ์ นี่เอง

ขุนพจน์สารบาญ บุตรชายคนที่สองของคุณพระจีนคณานุรักษ์ เล่าให้คุณสุวิทย์ คณานุรักษ์ ผู้เป็นหลานปู่ฟังตามที่คุณพระจีนคณานุรักษ์บันทึกไว้เป็นภาษาจีนซึ่งได้สูญหายไปในชั้นลูก และคุณสุวิทย์ คณานุรักษ์ ได้เล่าให้ผู้เขียน (รศ. มัลลิกา คณานุรักษ์) ฟังอีกต่อหนึ่งเพื่อเผยแพร่ดังนี้

ประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้นกำเนิดในครอบครัวตระกูลลิ้ม ในสมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์เหม็ง ราวๆ พ.ศ. ๒๐๖๕ – ๒๑๐๙ มีพี่น้องชายหญิงหลายคน มีพี่ชายคนหนึ่งชื่อ “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” ซึ่งรับราชการอยู่ที่อำเภอ มณฑลฮกเกี้ยน เมื่อบิดาลิ้มโต๊ะเคี่ยมถึงแก่กรรมจึงได้ย้ายมารับราชการที่เมื่องจั่วจิว ปล่อยให้ลิ้มกอเหนี่ยวและพี่น้องคนอื่นๆ เฝ้าดูแลมารดา

เล่ากันว่าในช่วงระยะนั้นมีโจรสลัดญี่ปุ่นบุกปล้นและเข้าตีเมืองตามชายฝั่งของจีน ลิ้มโต๊ะเคี่ยมซึ่งเป็นที่รักของประชาชนชาวจีนก็ถูกขุนนางกังฉินใส่ร้ายว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมสมคบกับโจรสลัดญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงถูกทางราชการประกาศจับ ทำให้ต้องจำใจหลบหนีออกจากประเทศจีนไปกับพรรคพวกหลายคนไปอาศัยอยู่ที่เกาะไต้หวัน ต่อมาได้เปลี่ยนอาชีพเป็นพ่อค้า โดยได้นำสินค้าจากประเทศจีนบรรทุกเรือสำเภามาขายที่ประเทศไทย และท่าเรือสุดท้ายที่มาขายสินค้าคือ เมืองกรือเซะ (ปัจจุบันคือ บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมื่อง จังหวัดปัตตานี)

 

เจ้าเมืองผู้ครองเมืองกรือเซะสมัยนั้นเป็นชาวไทยมุสลิม มีธิดาที่งามเลิศอยู่นางหนึ่ง ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมของพ่อค้าในสมัยก่อนเมื่อนำเรือสินค้าเข้าไปจอดที่เมืองใดก็มักจะนำผ้าแพรพรรณและสิ่งของสวยๆ งามๆ ที่มีค่าขึ้นไปถวายเจ้าผู้ครองเมืองเป็นของกำนัลเพื่อผูกไมตรี ปรากฏว่าเป็นที่พอพระทัยของเจ้าผู้ครองเมืองเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ให้ความสนิทสนมเป็นกันเองอย่างดีเป็นพิเศษต่อลิ้มโต๊ะเคี่ยม

 

เนื่องจากลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นชายหนุ่มรูปงามอีกทั้งยังมีความรู้ความสามารถในศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ หลายด้าน แม้แต่ฝีมือการรบพุ่งก็เก่งกล้าสามารถ จึงเป็นที่สนใจของธิดาเจ้าเมืองกรือเซะ ซึ่งลิ้มโต๊ะเคี่ยมเองก็ต้องตาต้องใจในความงามที่เป็นเลิศของนางอยู่ก่อนแล้ว โดยที่เจ้าเมืองกรือเซะเองก็สนับสนุนอยากได้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมมาเป็นเขย ในที่สุดลิ้มโต๊ะเคี่ยมและธิดาเจ้าเมืองกรือเซะจึงได้เข้าสู่พิธีวิวาห์ตามหลักศาสนาอิสลาม โดยลิ้มโต๊ะเคี่ยมยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามฝ่ายธิดาเจ้าเมือง เพราะยึดถือความรักเป็นใหญ่ รวมทั้งลูกเรือที่มากับลิ้มโต๊ะเคี่ยมทั้งหมดก็ไม่กลับประเทศจีน ยอมอยู่กับลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นนายที่เมืองกรือเซะ และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม มีภรรยาเป็นคนไทยมุสลิมในเมืองกรือเซะ (ในปัจจุบันยังเหลือร่องรอยให้เห็นว่าชาวไทยมุสลิมแถบบ้านกรือเซะจะมีผิวขาวแบบคนจีน ซึ่งจะสวยและหล่อกว่าชาวไทยมุสลิมแถบอื่นเพราะได้เปรียบในเรื่องผิวนั่นเอง)

 

ลูกเรือที่เป็นลูกน้องของลิ้มโต๊ะเคี่ยมทุกคนล้วนมีฝีมือในเชิงรบพุ่ง และมีฝีมือในเชิงดาบ โดยเฉพาะนายท้ายเรือ (ต้นหน) เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการหล่อปืนใหญ่ได้ ซึ่งปืนเป็นอาวุธจำเป็นในการรบพุ่งสมัยนั้นอย่างยิ่ง เพราะส่วนใหญ่ใช้ดาบและปืนเป็นอาวุธสำคัญ เจ้าเมืองกรือเซะเองก็เห็นความจำเป็นนี้เช่นกัน จึงได้สั่งให้หล่อปืนใหญ่ด้วยทองแดงเพื่อไว้ใช้ป้องกันเมือง ๑ กระบอก ครั้นเมื่อหล่อเสร็จได้ทดลองยิงปรากฏว่าปืนแตกใช้การไม่ได้ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมในฐานะผู้อำนวยการหล่อปืนใหญ่จึงสั่งการให้หล่อใหม่อีกครั้ง คราวนี้สำเร็จได้ปืนใหญ่ ๓ กระบอกชื่อ “ศรีนครี”, “มหาเหล่าหลอ” และ “นางปัตตานี” หรือ “นางพญาตานี” เล่ากันว่านายท้ายเรือ (ต้นหน) ที่เป็นผู้หล่อปืนเหล่านี้ ได้จบชีวิตด้วยปืนนางพญาตานีในวันทดลองยิง ด้วยสาเหตุใดไม่แจ้งชัด บ้างก็เล่าว่าผู้ที่จบชีวิตในวันทดลองยิงปืนเป็นลิ้มโต๊ะเคี่ยมเอง ปัจจุบันปืนใหญ่นางพญาตานีกระบอกนี้ตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร

หลายปีต่อมา มารดาของลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งอยู่ที่ประเทศจีนไม่เห็นบุตรชายกลับมาจากการค้าขายตามปกติ ก็มีความคิดถึงอีกทั้งเป็นห่วงจนไม่เป็นอันกินอันนอน ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวอีกคนหนึ่งต่างก็มีความสงสารมารดา ประกอบกับความเป็นห่วงพี่ชายที่ไม่ส่งข่าวมาถึงทางบ้านเลย จึงรับอาสามารดาออกติดตามพี่ชายเพื่อจะพากลับบ้านให้ได้ โดยให้สัญญากับมารดาว่า ถ้าไม่สามารถพาพี่ชายกลับมาก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อไป ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวได้คัดเลือกชายฉกรรจ์ที่มีฝีมือรบพุ่งในเชิงดาบจำนวนประมาณ ๗๐ คน ออกเดินทางโดยใช้เรือสำเภาติดตามมาจนถึงประเทศไทย โดยแวะที่ท่าเรือเมืองนครศรีธรรมราชเป็นแห่งแรก และได้สืบหาพี่ชายเรื่อยลงมาทางใต้จนถึงหน้าเมืองกรือเซะจึงได้ทอดสมอหยุดเรือที่อ่าวหน้าเมือง

ฝ่ายเมืองกรือเซะเข้าใจว่าเป็นเรือของข้าศึกจะยกมาตีเมืองจึงส่งทหารออกไปต่อสู้ แต่ทุกครั้งที่ออกไปต่อสู้ทหารถูกฆ่าตายพ่ายแพ้กลับมา เจ้าเมืองกรือเซะเห็นว่าทหารไม่มีฝีมือพอที่จะชนะข้าศึกได้ อีกทั้งยังไม่มีใครกล้าอาสาออกรบ จึงได้ขอร้องลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นบุตรเขยกับพวกที่มาจากประเทศจีนออกไปต่อสู้แทน ปรากฏว่าการรบพุ่งเป็นไปอย่างดุเดือด ต่างฝ่ายต่างมีฝีมือทัดเทียมกัน และฝีมือเพลงดาบของลิ้มกอเหนี่ยวกับลิ้มโต๊ะเคี่ยมเหมือนกัน ทั้งนี้เพราะเรียนมาจากสำนักอาจารย์เดียวกัน เพียงแต่คนละรุ่น ในการออกรบลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวแต่งกายเป็นผู้ชาย ส่วนลิ้มโต๊ะเคี่ยมแต่งกายแบบไทยมุสลิม และเป็นเวลากลางคืน ต่างฝ่ายต่างจำกันไม่ได้ เมื่อรบกันเป็นเวลานานไม่มีใครแพ้ชนะ อีกทั้งยังสงสัยว่าทำไมเพลงดาบจึงเหมือนกัน จึงได้เอ่ยถามกันขึ้นตามแบบธรรมเนียมจีน จึงได้รู้ว่าเป็นพี่น้องกัน และได้สั่งให้ยุติการรบชวนกันเข้าไปพบเจ้าเมืองกรือเซะ เมื่อเจ้าเมืองทรงทราบก็ยินดีจัดงานเลี้ยงต้อนรับ

 

ฝ่ายลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นพี่ชาย เมื่อรู้ว่าต้องสูญเสียน้องสาวทั้ง ๒ คนไปเพราะตนเองก็โศกเศร้าเสียใจยิ่งนัก และได้จัดพิธีศพตามประเพณีจีนอย่างสมเกียรติให้ โดยทำเป็นฮวงซุ้ย อยู่ที่บ้านกรือเซะ ปัจจุบันมีการบูรณะเฉพาะฮวงซุ้ยของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวให้เห็นปรากฏอยู่จนทุกวันี้ เมื่อเสร็จงานพิธีศพน้องสาวแล้ว ลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็ได้ก่อสร้างมัสยิดที่สร้างค้างต่อไป พอสร้างจวนจะสำเร็จเหลือยอดโดมก็ถูกฟ้าผ่ายอดโดมพังทลายหมด ลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็ยังไม่ยอมแพ้เพียรพยายามสร้างต่ออีก ๓ ครั้ง แต่ก็ถูกฟ้าผ่าพังทลายทุกครั้ง ในที่สุดจึงยอมแพ้หมดความพยายามที่จะสร้างต่อไป แม้แต่เจ้าเมืองกรือเซะเองก็บังเกิดความกลัวในอภินิหารตามคำสาปแช่งจนไม่มีใครกล้าสร้างต่อจนถึงปัจจุบันนี้ และปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ไว้แล้ว มัสยิดแห่งนี้สร้างในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา นับตั้งแต่เริ่มสร้างจนถึงปัจจุบันก็เกือบสามร้อยปีแล้ว

 

หลังจากที่ลิ้มกอเหนี่ยวสิ้นชีวิตแล้ว ได้เกิดอภินิหารที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตาย ด้วยวิญญาณของลิ้มกอเหนี่ยวได้สิงสถิตอยู่ที่นั่น ใครเจ็บไข้ได้ป่วยหรือได้รับความเดือดร้อนประการใด เมื่อไปบนบานที่นั่นก็จะหายเจ็บหายป่วยพ้นจากความเดือดร้อน ชาวบ้านทั่วไปจึงขนานนามใหม่ว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนับแต่นั้นมา

ครั้งหนึ่งคุณพระจีนคณานุรักษ์ หัวหน้าคนจีนในเมืองปัตตานี ได้ป่วยด้วยโรคอย่างหนึ่งรักษากับหมอหลวงมานานก็ไม่หาย ไมว่าจะเปลี่ยนหมอกี่คนมาแล้วก็ตาม เมื่อหมดหนทางจึงได้กราบไหว้ถามพระเซ๋าซูกง หรือที่รู้จักกันในนามว่า พระหมอ ซึ่งคุณพระจีนคณานุรักษ์ ได้สร้างศาลเจ้าเล็กๆ ให้ประทับอยู่ใกล้ๆ บ้านของท่านที่หัวตลาด (ปัจจุบันคือ ที่ถนนอาเนาะรู) พระเซ๋าซูกงได้บอกคุณพระจีนคณานุรักษ์ว่าต้องไปขอให้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวช่วยรักษาจึงจะหายป่วย

เกี่ยวกับประวัติของพระเซ๋าซูกง (พระหมอ) นั้นสันนิษฐานว่าคงจะได้รับเชิญมาจากประเทศจีน โดยพ่อค้าจีนที่เดินทางมาค้าขายทางเรือสำเภาระหว่างประเทศจีน กับสิงคโปร์และไทย และเรือสำเภาที่อัญเชิญพระเซ๋าซูกงมาคงจะถูกพายุพัดอับปางแถวปากอ่าวปัตตานี พระเซ๋าซูกงซึ่งทำด้วยแก่นไม้จึงได้ลอยเข้ามาในแม่น้ำปัตตานี และมีผู้พบท่านที่คลองอาเนาะซูงา ซึ่งเป็นคลองในตัวเมืองปัตตานี ใกล้กับสะพานปูนซีเมนต์ในตลาดปัตตานี โดยวันหนึ่งมีชายไทยมุสลิมพายเรือผ่านมาพบเข้าเห็นพระเซ๋าซูกงลอยอยู่ในน้ำประกอบกับองค์ของพระเซ๋าซูกงมีสีดำสนิท ชายคนนั้นจึงเข้าใจว่าเป็นท่อนไม้ ต้องการนำติดมือไปหวังจะใช้เป็นเชื้อเพลิงประกอบอาหาร จึงได้เอามีดขอฟันลงบนศีรษะของพระเซ๋าซูกง ปรากฏว่ามีเลือดไหลออกมาทันที และทันใดนั้นพระเซ๋าซูกงได้ประทับทรงชายไทยมุสลิมคนนั้น ชายไทยมุสลิมคนนั้นจึงได้กระโดดลงไปในน้ำแล้วอุ้มองค์เซ๋าซูกงขึ้นมา

ภายหลังคุณพระจีนคณานุรักษ์ทราบข่าวจึงได้มาอัญเชิญพระเซ๋าซูกงไปประทับในศาลเจ้าที่คุณพระจีนคณานุรักษ์สร้างไว้ที่หัวตลาดใกล้บ้าน เป็นที่เลื่องลือในอิทธิปาฏิหาริย์ของพระเซ๋าซูกง เจ้าพิธีการไต่บันไดดาบในอดีตและเจ้าพิธีลุยน้ำลุยไฟในปัจจุบัน

ในจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดีเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๑ – ๔ ในปราสาทพระเทพบิดรและสุมนชาตินิพนธ์ (หน้า ๑๑๗ – ๑๑๘) (ผู้เขียนได้เอกสารจดหมายเหตุรายวันฯ จากคุณจำเริญ วัฒนายากร ผู้เป็นญาติ) ได้กล่าวถึงคุณพระจีนคณานุรักษ์ และพระเซ๋าซูกง ไว้ดังนี้

 

 

“( วันจันทร์ วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๑ เวลาสี่โมงเช้าเรือทอดสมอที่หน้าเมืองตานี เจ้าเมืองกรมการเมืองตานีมาคอยรับเสด็จถึงเรือโดยเร็ว เสด็จไปประทับที่เรือเวสาตรี ทรงครึ่งยศทหาร เราก็แต่งครึ่งยศตามเสด็จไป ผู้ที่มานั้น พระยาตานีตาย พระศรีบุรีรัฐพินิต ๑ พระพิพิธ ๑ เมืองยิริ่ง ๑ พระโยธานุประดิษฐ์ ๑ เมืองสาย พระยาสาย ๑ พระวิเศษวังชา ๑ ประทานตราภัทราภรณ์ ผู้ช่วยทั้งสี่คนคนละดวง แล้วเสด็จกลับเรืออุบล วันนี้เป็นวันคล้ายกับวันประสูติสมเด็จแม่ ที่เรือเวสาตรีได้ยิงสลุต ๒๑ นัด )

 

สองโมงเศษเสด็จขึ้นเมืองตานี เมื่อถึงท่าเขาลงมาคอยรับเสด็จทั้งผู้ชายผู้หญิง ทรงพระดำเนินไปตามตลาดจนถึงพลับพลาซึ่งปลูกไว้รับเสด็จ ทำดี ดูเข้าใจไทยมาก การรับรองแข็งแรง ของถวายก็มาก ข้างใน พวกผู้หญิงก็มาถวายของมาก มีฝนตกเล็กน้อย แล้วเสด็จมาทรงเรือพระที่นั่งมาประทับที่วัดของจีนจูหลาย กัปตันจีนสร้าง มีพระสงฆ์อยู่ ๑๔ รูป โบสถ์ทำอย่างจีน พระเข้าบ้านแขกไม่ได้ รับสั่งให้นิมนต์มาถวายเงิน สมเด็จแม่ก็ถวายด้วย แล้วประทานเงินกัปตันจีนไว้ห้าชั่ง ให้ทำศาลาการเปรียญ เป็นที่สำหรับเด็กเรียนหนังสือ ให้เป็นที่สำหรับเจ้าเมืองกรมการประชุมถือน้ำด้วย

 

เสด็จกลับจากวัด ล่องมาประทับที่แพที่ช่วยกันปลูกไว้รับเสด็จ เป็นพลับพลาหน้าบ้านกัปตันจีน เสด็จเข้าประตูบ้านจีน ทรงพระดำเนินไปจนถึงศาลเจ้าซูก๋อง แล้วเสด็จไปตามตลาด จะเสด็จไปทางไหนคนตามดูแน่น กัปตันจีนดูรับรองแข็งแรง พี่สาว (คือนางเม่งจู โกวิทยา) ก็เดินตามอยู่เสมอ ทูลหม่อมจะทรงซื้ออะไรเป็นไม่ยอมให้ทรงซื้อ ถวายร่ำไป เย็นเสด็จกลับต้องเข็นเรือตามร่องน้ำ อุตส่าห์ออกมาขุดร่องน้ำไว้ เรือมาถึงเรือพระที่นั่ง มีควันแต่ไม่มาก วันนี้ประทานสัญญาบัตรจีนจูหลายซึ่งเป็นกัปตันจีนในเมืองตานีเป็นหลวงจีนคณานุรักษ์ หัวหน้าจีนในเมืองตานี พวกเจ้าเมืองกรมการตามส่งเรือพระที่นั่ง ”

วัดที่กัปตันจีนสร้างตามจดหมายเหตุข้างต้นก็คือ วัดบางน้ำจืด ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า วัดตานีนรสโมสร ส่วนศาลเจ้าซูก๋อง ก็คือศาลเจ้าเซ๋าซูกงนั่นเองในพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๕ (เสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) เรือพระที่นั่งอุบลบูรทิศ ถึงท่านกลางและกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ หน้า ๓๓, ๔๑, ๔๒) ก็ทรงกล่าวถึงคุณพระจีนคณานุรักษ์ไว้หลายครั้งดังนี้

 

“…..เวลา ๔ โมงเช้า แต่งตัวเต็มยศ เพราะจะมีงานเป็นการฉลองวัดใหม่ขึ้นไป ชั่วโมงหนึ่งถึงฉนวนหน้าวัดตานีบางน้ำจืด ขึ้นไปเลี้ยงพระบนตึกการเปรียญที่ทำขึ้นใหม่ พระสงฆ์ฉัน ๗ รูป หลวงจีนคณานุรักษ์จัดสำรับและมีของตักบาตรขึ้นไปจากในเรือด้วยพระสงฆ์ฉันแล้วถวายไตรองค์ละไตร…..”

 

“…..ได้ติดศิลาจารึกเรื่องที่ปรารภสร้างศาลาและเพิ่มชื่อวัดว่า วัดตานีนรสโมสร หลวงจีนคณานุรักษ์ ลงทุนเลี้ยงข้าราชการและทหารทั่วไป ให้ได้ตรา ว.ม. ดวงหนึ่งกับสิ่งอื่นๆ ตามสมควร…..”

 

“…..เสด็จลงเรือพระที่นั่งไปประทับที่พลับพลา ซึ่งปลูกไว้ที่ปากน้ำ พระยาหนองจิกและกรรมการมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน พระยาวิชิตภักดี เจ้าเมืองตานี กับพระศรีรัฐพินิจ พระพิพิธภักดี หลวงจีนคณานุรักษ์ เมืองตานี มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย…..”

 

คุณพระจีนคณานุรักษ์ เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ ๕ อย่างยิ่ง ได้รับพระราชทานเหมืองจากรัชกาลที่ ๕ จำนวน ๕ แห่งด้วยกัน คือ 1. เหมืองที่ถ้ำทะลุ 2. เหมืองมายอบน 3. เหมืองบูล้วน ๔. เหมืองหวนหน่าซัวบน ๕. เหมืองหวนหน่าซัวล่าง ท่านเป็นหัวหน้าคนจีนในเมืองปัตตานีที่คนจีนนับถือมาก ก่อนหน้าจะได้รับพระราชทานให้เป็น “คุณพระ” นั้น ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “กัปตันจีน” “คุณหลวงจีนคณานุรักษ์” จนครั้งสุดท้ายได้เป็น “คุณพระจีนคณานุรักษ์” (ซึ่งเดิมชื่อ จูไล่ หรือ จูหลาย ตันธนวัฒน์)

 

ภายหลังที่พระเซ๋าซูกง (พระหมอ) ได้บอกคุณพระจีนคณานุรักษ์ให้ไปหาเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวโดยวิธีเข้าทรงแล้ว คุณพระจีนคณานุรักษ์ ก็ได้ไปหาเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวให้ช่วยรักษาโรคโดยวิธีอัญเชิญวิญญาณของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประทับทรง เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวบอกว่าจะรักษาโรคให้หายโดยมีข้อแม้ว่า เมื่อหายแล้วคุณพระจีนคณานุรักษ์ต้องสร้างศาลเจ้าที่เมืองปัตตานีให้ท่านกับน้องสาวประทับ และขอให้แกะสลักรูปของท่านกับน้องสาวด้วยโดยขอให้ประทับอยู่ร่วมกับพระเซ๋าซูกง (พระหมอ) ในศาลเจ้าเดียวกัน ซึ่งคุณพระจีนคณานุรักษ์ได้ตกลงรับสัญญาตามเงื่อนไขทุกประการ ในที่สุดคุณพระจีนคณานุรักษ์ก็หายจากโรคดังกล่าว และได้ปฏิบัติตามสัญญา คือให้คนจีนแกะสลักรูปเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจากกิ่งมะม่วงหิมพานต์กิ่งที่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตาย โดยวิธีอัญเชิญวิญญาณเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประทับทรงนายช่างซึ่งเป็นผู้แกะสลักจนรูปเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและน้องสาวเสร็จเรียบร้อย พร้อมกันนั้นคุณพระจีนคณานุรักษ์ก็ได้สร้างศาลเจ้าหลังใหม่ดังที่ปรากฏมาจนทุกวันนี้

 

 

 

ศาลเจ้าแห่งนี้ได้เจริญขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวปัตตานีและจังหวัดอื่นๆ ทั่วไป ผู้ใดมีเรื่องทุกข์ร้อนก็มักจะไปขอให้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวช่วย หรือถ้าต้องการทราบเรื่องเกี่ยวกับกิจการค้าขายว่าจะกำไรหรือขาดทุนก็ไปเสี่ยงทายล่วงหน้าโดยวิธีเขย่าไม้เซียมซี แล้วไปดูคำทำนายในใบเซี่ยมซีซึ่งมีตัวเลขตรงกัน จะทำให้ทราบได้ว่าจะมีโชคหรือไม่ หรือถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็ขอสลากยาจากเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวแล้วนำไปซื้อตัวยาจากร้านขายยามาต้มรับประทาน

 

ได้กล่าวแล้วว่ามีการสมโภชแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวทุกปี หลังตรุษจีน ๑๔ วัน ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ ซึ่งในงานดังกล่าวจะมีมโนห์รา งิ้ว และร้านค้าต่างๆ มาขายของมากมายอย่างครึกครื้น แต่ก่อนวันแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวคือในเดือน ๓ ขึ้น ๑๑, ๑๒ และ ๑๓ ค่ำ ทุกปีจะมีการสมโภชพระกวนอูกับพระเซี่ยงเต้เอี่ย ซึ่งเป็นพระประจำตระกูลคณานุรักษ์ที่หลวงสำเร็จกิจกรจางวางเมืองปัตตานี ผู้เป็นบิดาของคุณพระจีนคณานุรักษ์นำมาจากประเทศจีน ซึ่งเดิมอัญเชิญประทับไว้ที่เหมืองที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๕ และมีการสมโภชอยู่แล้วเป็นประจำทุกปี คนงานในเหมืองแร่ส่วนใหญ่เป็นคนจีนต่างก็เคารพสักการะพระประจำตระกูลคณานุรักษ์ ภายหลังได้อัญเชิญมาประทับไว้ที่บ้านเลขที่ ๓ ถนนอาเนาะรู

 

สมัยก่อนบ้านแถวถนนปัตตานีภิรมย์ ริมน้ำตลอดถึงแถวถนนอาเนาะรูทั้งหมดเป็นสถานที่ที่รัชกาลที่ ๕ พระราชทานให้แก่หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง เมืองปัตตานี เมื่อครั้งทำความดีความชอบอาสาออกรบครั้งที่มีข้าศึกมาประชิดเมืองสงขลา (เดิมหลวงสำเร็จกิจกรฯ อยู่สงขลา) ภายหลังลูกหลานได้รับแบ่งปันมรดก พากันขายแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น จึงยังคงเหลืออยู่บางช่วงของถนนปัตตานีภิรมย์และถนนอาเนาะรูเท่านั้น ซึ่งคนเก่าแก่รุ่นก่อนรู้ดีว่าเป็นของคนในตระกูลคณานุรักษ์

 

และในช่วงที่สมโภชพระกวนอูกับพระเซี่ยงเต้เอี่ยนั้นมีการอัญเชิญพระหมอ กับน้องพระหมอ และเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มาประทับที่บ้านเลขที่ ๓ ถนนอาเนาะรูด้วย โดยอัญเชิญมาปีละ ๒ องค์ วิธีอัญเชิญนั้นใช้วิธีนั่งสมาธิจิตติดต่อ ปัจจุบันผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวคือ คุณสุวิทย์ คณานุรักษ์ เช่นสมมุติว่าปีนี้นั่งสมาธิจิตแล้วจะทราบว่า ๒ องค์ใดที่จะมาประทับคืออาจเป็นพระเซ๋าซูกง (พระหมอ) กับน้องสาวเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือบางปีก็อาจเป็นเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องพระหมอ (ถ้ามีการเปลี่ยนเป็นองค์อื่นซึ่งไม่ตรงกับที่คุณสุวิทย์ คณานุรักษ์นั่งสมาธิจิตติดต่อจะไม่มา เคยมีการพิสูจน์มาแล้ว นับเป็นเรื่องที่อัศจรรย์จริงๆ) มีมโนห์ราเล่นที่หน้าบ้านให้พระทั้ง ๔ องค์ชมพอถึงเดือน ๓ ขึ้น ๑๔ ค่ำก็จะย้ายมโนห์ราจากบ้านเลขที่ ๓ ถนนอาเนาะรู มาเล่นที่หน้าศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เดิมเล่นกันนานเพราะมีการแก้บนโดยใช้มโหราห์แสดงถวายเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ปัจจุบันกำหนดให้เล่นต่อเนื่องกันเพียง ๘ คืนเท่านั้น

 

 

 

พระเซ๋าซูกง (พระหมอ) เป็นพระผู้ใหญ่ที่สุดในศาลเจ้าเล่งจู่เกี้ยง เดิมในงานสมโภชแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมีการแสดงอภินิหารเดินไต่บันไดดาบ ซึ่งหวาดเสียวมาก ภายหลังทางราชการขอร้องให้ระงับ คงเหลือแต่พิธีลุยน้ำและลุยไฟเท่านั้น

 

ในงานดังกล่าวจะมีประชาชนจากทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงที่เคารพนับถือศรัทธาในองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หลั่งไหลมาเคารพสักการะและเฝ้าชมบารมีของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พิธีเริ่มตั้งแต่เวลาเช้าประมาณ ๐๖.๐๐ น. โดยมีชายหนุ่มชาวจังหวัดปัตตานีหามเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งประทับบนเกี้ยวจำนวน ๔ คน ออกจากศาลเจ้าพร้อมกับพระองค์อื่นๆ ที่ประทับอยู่ในศาลเจ้าแห่งนี้ออกไปแห่ทั่วเมืองปัตตานี พร้อมกับริ้วขบวนที่มีเด็กสาวชาวเมืองปัตตานีวัยต่างๆ เดินถือธูป หาบกระเช้าดอกไม้ และถือธงขนาดใหญ่ มีเด็กชายวัยรุ่นเล็กตีฉิ่ง ตีกลอง และถือธงขนาดเล็ก แทบทุกคนที่เป็นผู้ชาย เมื่อยังเล็กๆ ก็มักจะถือธงวิ่งตามพระเซ๋าซูกง (พระหมอ) พอโตหน่อยขนาดหามพระได้ก็มักจะหามพระเข้าในขบวนแห่กันจนเป็นประเพณีของชายหนุ่มที่นี่ (จังหวัดปัตตานี)

 

ในระหว่างการแห่นี้พระจะลงลุยน้ำโดยลงน้ำทั้งคนหามและพระลอยไปข้ามแม่น้ำปัตตานีได้โดยไม่จม (แม้ว่าคนหามจะว่ายน้ำไม่เป็นก็ตาม) เมื่อเสร็จจากการลุยน้ำแล้วก็จะแห่พระต่อไปรอบเมือง โดยแวะเข้าไปในบ้านที่ตั้งโต๊ะกระถางธูปเทียนไว้หน้าบ้าน เพราะถ้าบ้านใดตั้งโต๊ะไว้เช่นนี้แสดงว่าต้องการอัญเชิญพระเข้าไปในบ้าน เพื่อความสิริมงคลทำมาค้าขึ้น

 

หลังจากนั้นก็จะกลับศาลเจ้าเพื่อทำพิธีลุยไฟการลุยไฟ ก็คือการที่คนหามทั้ง ๔ เชิญพระซึ่งอยู่บนเกี้ยวเดินลุยเข้าไปในกองไฟใหญ่ ที่ได้นำถ่านไฟมาก่อจำนวนประมาณ ๒๗ กระสอบ (กระสอบข้าวสาร) มาประกอบพิธีที่บริเวณหน้าศาลเจ้า เจ้าหน้าที่ก่อไฟให้ไฟติดถ่านจนร้อนแดงจัด แล้วอัญเชิญพระเซ๋าซูกง (พระหมอ) เข้าลุยไฟเป็นองค์แรก โดยมีพระองค์อื่นๆ ลุยไฟตาม การลุยไฟนี้พระองค์หนึ่งๆ จะลุยไฟกี่เที่ยวก็ได้ คนหามพระสามารถเดินเหยียบผ่านบนกองไฟที่ลุกโชนท่วมศีรษะได้โดยไม่ไหม้ นับเป็นปาฎิหาริย์ที่อัศจรรย์ยิ่ง

 

คนที่จะหามพระลุยไฟได้ต้องมีข้อแม้ว่า ร่างกายจะต้องสะอาด งดเว้นข้องเกี่ยวกับสตรีเพศอย่างเด็ดขาด บางคนจึงมานอนค้างที่ศาลเจ้าโดยนอนเฝ้าคานหามตลอดคืนเพื่อให้ร่างกายสะอาดอย่างแท้จริง และเป็นการเฝ้าคานหามมิให้ผู้อื่นแย่งไปหามก่อนตนด้วยในทุกปีที่มีการแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้น ลูกหลานตระกูลคณานุรักษ์ที่อยู่ในเมืองปัตตานี หรือที่ย้ายไปประกอบอาชีพที่จังหวัดอื่นก็จะถือโอกาสกลับมาปัตตานี ในวันดังกล่าว เพื่อมาสักการะและช่วยเหลืองานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวด้วยจิตสำนึกว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและพระหมอเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ประจำตระกูลคณานุรักษ์

 

 

 

ปัจจุบันคนในตระกูลคณานุรักษ์ที่เป็นผู้ใหญ่ก็มักจะมาช่วยจัดความเรียบร้อยเกี่ยวกับการแบ่งเกี้ยวให้หามพระเข้าลุยไฟ เป็นการป้องกันการแย่งกันหามพระเข้าลุยไฟ เพราะใครๆ ก็อยากจะหาม ไม่มีผู้จัดแบ่งและควบคุมแล้ว คนที่หามอยู่แล้วจะไม่ยอมแบ่งให้ผู้อื่นหามเลย ผู้ชายชาวปัตตานีทุกคนต่างถือเป็นหน้าที่โดยศรัทธาว่าจะต้องมาหามพระโดยไม่มีการกะเกณฑ์ ขอร้อง หรือบังคับจ้างวานแต่ประการใด ได้กล่าวแล้วว่าเด็กชายอายุระหว่าง ๑๐-๑๕ ปี จะทำหน้าที่ถือธงนำหน้าพระและตีม้าล่อ พอโตเป็นหนุ่มก็จะหามพระ คนที่เคยหามแล้วพอมีอายุมากก็จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำรุ่นน้องต่อไป ฝ่ายผู้ใหญ่ก็จะช่วยเหลือด้านพิธีการต่างๆ ไม่ว่าผู้ใดจะไปประกอบอาชีพอะไร ที่ไหน เมื่อถึงวันสำคัญดังกล่าวนี้จะต้องกลับมาที่จังหวัดปัตตานีเพื่อร่วมพิธีนี้ให้ได้

ในงานสมโภชนี้จะมีผู้คนมาทำบุญกันมาก บ้างก็มายืมเงินเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปเป็นเงินก้นถุงสำหรับทำการค้าขาย เช่นปีนี้มาขอยืมไป ๕๐ บาท ปีหน้าก็เอาเงินมาคืน ๑๐๐ บาท เป็นต้น บ้างก็นำของไปถวายเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เช่น ส้ม องุ่น ขนมเต่า ฯลฯ บางคนก็ทำบุญโดยมาขอซื้อขนมหรือของที่มีผู้นำมาถวายเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไป เพื่อเป็นสิริมงคล ในการซื้อของต่างๆ เหล่านี้จะมีเจ้าหน้าที่ทอดลูกเบี้ยถามราคา เช่น ขนมเต่าตัวนี้ราคา ๑๐๐ บาท ได้ไหม หากเป็นคนจนอาจลดราคาลงเป็น ๕๐ บาท แต่ถ้าเป็นคนรวยอาจเพิ่มเป็น ๑๒๐ บาท แต่อาจมีบางคนที่มีฐานะยากจนมาช่วยเหลือและรับใช้งานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เมื่อขอขนมหรือผลไม้เอาไปรับประทาน เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวก็ให้ไปโดยไม่คิดเงิน บางคนเจ็บป่วยไม่สบายได้บนบานไว้ เมื่อหายแล้วจะแก้บนเป็นสร้อยคอ แหวน ซึ่งเป็นทองคำแท้ๆ

เริ่มตั้งแต่คุณพระจีนคณานุรักษ์สร้างศาลเจ้าเพื่อให้พระเซ๋าซูกง (พระหมอ) และเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประทับนั้น มีคนในตระกูลคณานุรักษ์เป็นผู้ดูแลจัดการศาลเจ้าแห่งนี้ตลอดมา โดยเริ่มแรกก็เป็นคุณพระจีนคณานุรักษ์เอง ต่อมามอบให้บุตรชายคนที่สาม คือ ขุนพิทักษ์รายาเป็นผู้ดูแล ภายหลังขุนพิทักษ์รายามอบให้นายดิเรก คณานุรักษ์ผู้เป็นบุตรดูแล และปัจจุบันนายสมพร วัฒนายากร ซึ่งมีมารดาเป็นเชื้อสายคณานุรักษ์ และเป็นบุตรเขยของนายดิเรก คณานุรักษ์ เป็นผู้ดูแลและจัดการ โดยแบ่งหน้าที่แก่กรรมการฝ่ายต่างๆ ช่วยจัดการอีกต่อหนึ่ง

นั่นคือศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจังหวัดปัตตานี ซึ่งต้นตระกูลคณานุรักษ์เป็นผู้สร้าง ยังคงอยู่ในความดูแลรักษาของคนในตระกูลคณานุรักษ์อยู่ และปัจจุบันได้รับการสนับสนุนเอาใจใส่จากทางราชการในจังหวัดปัตตานีเป็นอย่างดี

 หมายเหตุ:ขอขอบคุณข้อมูลจากประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ฉบับตระกูลคณานุรักษ์ เป็นอย่างยิ่ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น