ปราสาทสัจธรรม เมืองพัทยา โดยนายมหาทอง

ปราสาทสัจธรรม  มีที่ตั้งอยู่ที่พัทยา  บริเวณแหลมราชเวท ตำบลนาเกลือ เมืองพัทยา  ปราสาทแห่งนี้ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแห่งศตวรรษ  ต้องถือเป็นงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ และการก่อสร้างคงจะไม่มีวันสิ้นสุด เพราะการก่อสร้างที่ทำมากว่า ๒๐ ปี ยังไม่มีท่าทีว่าจะแล้วเสร็จ  เช่นเดียวกับเมืองโบราณที่สมุทรปราการ  (เจ้าของเดียวกัน รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ ช้างเอราวัณ ด้วย)  ก่อนที่จะเล่าถึงความเป็นมาเท่าที่ทราบ  เล่าถึงความงดงาม และความมหัศจรรย์ของปราสาทแห่งนี้  ขอทบทวนเส้นทางไปพัทยาไว้อีกที  และทบทวนฉบับย่อของแหล่งท่องเที่ยวในพัทยา ซึ่งไปคราวนี้ไม่มีโอกาสสำรวจเพิ่มเติม ตั้งใจที่จะไปปราสาทสัจธรรม ไปดูกันให้เต็มอิ่ม และเลยไปสำรวจร้านอาหารอร่อย ที่เคยชิมไว้เพื่อให้คณะแข่งขัน “แรลลี่”  ของสมาคมภัตตาคารไทย เขามากินอาหารกลางวันกันในวันแข่งขัน  ซึ่งผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับเขาด้วย ก็ตอนที่เขาแต่งตั้ง ยกย่องให้เป็นยอดนักชิม และทูตสร้างสรรค์อาหารปลอดภัยปี ๒๕๔๘  เขาเลยให้นักแข่งแรลลี่กลุ่ม ๑  ไปชิมอาหารกับยอดนักชิม (เขาออกโบว์ชัวร์อย่างนี้)  และผมต้องส่งทีมเข้าแข่งขันกับเขาด้วยหนึ่งทีม  ซึ่งผมทำหน้าที่นำร่องและให้ลูกชายขับแทน ไม่หวังแพ้ ชนะอะไรกับเขา  เขาให้ส่งก็ส่ง หน้าที่คือ หาร้านอาหารให้เขาให้ได้หนึ่งร้านก็แล้วกัน  การไปพัทยาวันนี้จึงไปหาร้านอาหารอร่อย ซึ่งก็หาได้ถูกใจ เพราะเคยชิมร้านดั้งเดิมของเขามาก่อนแล้ว เมื่อได้ร้านอาหารให้เขาแล้ว ก็ไปชมปราสาทสัจธรรม ชมกันเต็มอิ่มไปเลย ชมแล้วก็อยากไปอีก

 

เส้นทาง  ถนนสายหลักมุ่งไปยังภาคตะวันออกนั้นมีหลายทางคือ
เส้นทางที่ ๑   เส้นทางดั้งเดิม คือ ถนนสุขุมวิท ที่ตั้งต้นเมื่อไปจากสี่แยกราชประสงค์ ในกรุงเทพ ฯ พอข้ามทางรถไฟแล้วตรงเรื่อยไปคือ ถนนสุขุมวิท สมัยก่อนไม่มีถนนสายบางนา – ตราด  ถนนสุขุมวิทจึงตรงเรื่อยไปจนถึงสมุทรปราการ หรือปากน้ำ จึงหักเลี้ยวซ้ายตรงต่อไป จนถึงแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเมื่อสัก ๕๐ ปีกว่ามาแล้ว ต้องเอารถลงแพข้ามเพื่อไปชลบุรี  ซึ่งผมโตทันได้นั่งรถลงแพข้ามแม่น้ำบางปะกง  ถนนสุขุมวิทจะไปผ่าน บางละมุง พัทยายังไม่เกิด ผ่านสัตหีบ ระยอง จันทบุรี ไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด ถนนสุขุมวิท หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓  ยังอยู่ดี แต่ผู้ที่จะเดินทางไปพัทยา มักจะไม่ค่อยใช้กันแล้ว เพราะมีเส้นทางอื่นที่ใกล้กว่า ไปได้เร็วกว่า
เส้นทางที่ ๒  ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ กรุงเทพ ฯ – ชลบุรี  ไปจากถนนพระราม ๙ ตรงเรื่อยไปก็เข้าทางหลวงพิเศษ มีด่านเก็บเงิน ๒ ด่าน เก็บตอนเข้า กับตอนออก ด่านละ ๓๐ บาท มีศูนย์บริการของทางหลวงที่มีสุขาเป็นสากล มีร้านอาหาร มีปั๊มน้ำมัน ปตท.  วันเดินทางกลับแวะชิมอาหารที่ร้านก๋วยเตี๋ยวปลา ข้าวขาหมู มีป่ายคลีน ฟู๊ด เทสท์  มองดูแล้วไม่น่าอร่อย แต่ก็ลองชิมดู ปรากฎว่าไม่อร่อย และข้อสำคัญ ไม่ “คลีน”  โดยเฉพาะห้องสุขาก็เลยเอามาบอกกล่าวไว้ด้วย ตอนต่ออายุป้ายจะได้พิจาณาให้ดี ๆ
เส้นทางสายนี้หากต้องการไป แกลง จันทบุรี ตราด ให้เลี้ยวซ้ายออกที่บ้านบึง
หากต้องการไประยอง และพัทยา ไปจนสุดทางหมายเลข ๗ หรือ  Motorway แล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย ๓๖  วิ่งไปจนถึงถนนต่างระดับ หากจะไปพัทยาก็เลี้ยวขวา จะไประยองก็เลี้ยวซ้าย จะเลยต่อไปจันทบุรี และตราดตามเส้นทางนี้ก็ได้
เส้นทางที่ ๓  เป็นเส้นทางที่ผมเดินทางไปพัทยาในคราวนี้ ผมไปทางด่วนจากบ้านที่ลาดพร้าว ขึ้นทางด่วนรามอินทรา ซึ่งเดี๋ยวนี้ทางด่วนสายนี้ หรือสายที่มาจากดินแดง หากจะไปชลบุรี หรือภาคตะวันออก ไม่ต้องลงที่บางนาก่อน ถนนทางด่วยจะเชื่อมต่อไปถึงบางปะกงได้เลย เมื่อเข้าทางด่วนพิเศษ ซึ่งเป็นทางยกระดับเหนือถนนสายบางนา – ตราด แล้วคราวนี้จะวิ่งได้เร็วมาก ถนนช่องละ ๓ เลน รถไม่มากนัก  เมื่อผ่านด่านเข้าไปเขาก็จ่ายบัตร เก็บเงินกันตามระยะทางวิ่งไกลเสียมาก หากวิ่งไปจนสุดทางพอผ่านด่านออก ส่งบัตรให้เขาก็จะจ่ายอีก ๕๕ บาท รวมทั้งหมด ๘๕ บาท เมื่อลงจากทางด่วนแล้ววิ่งมุ่งหน้าเข้าเมืองชลบุรี พอถึงถนนบายพาสก็แยกซ้ายเข้าบายพาสไป หากจะไปแกลงก็แยกซ้ายไปทางบ้านบึง หากจะไปพัทยาก็มาแยกซ้ายเข้าถนนสาย ๓๖ ไปแยกขวาอีกที เพื่อไปพัทยาเมื่อถึงทางต่างระดัย เลี้ยวขวาแล้วก็วิ่งตรงไปจนถึงสามแยกก็เลี้ยวซ้ายอีกที เข้าถนนสาย ๓ หรือสุขุมวิท เพื่อไปยังพัทยา

 

ปราสาทสัจธรรม  เส้นทางไปตามถนนสุขุมวิทผ่านหน้าอำเภอบางละมุง ข้ามสะพานแล้วกลับรถมา เพื่อเลี้ยวเข้าถนนสุขุมวิท ซอย ๑๘ ซอยวัดสว่างฟ้า วิ่งไปสุดซอยถึงสามแยก หากเลี้ยวขวาจะมายังร้านอาหารที่จะพาไปชิม ให้เลี้ยวซ้ายที่สามแยกแล้วไปเลี้ยวขวาเข้าถนนนาเกลือซอย ๑๒ วิ่งไปจนเกือบสุดซอย ปราสาทสัจธรรมจะอยู่ทางขวามือ ก่อนถึงปราสาทจะผ่านแยกไปโรงแรม ที่ผมพักคราวนี้โรงแรมเล็ก ๆ ริมหาด สะอาด ราคาถูกมาก ชายหาดของโรงแรม จะเห็นพระอาทิตย์ตกที่ปราสาทสัจธรรมงามนัก และเห็นปราสาท ฯ ได้เต็มตาเหมือมาตั้งอยู่ตรงหน้าเลยทีเดียว ไปปราสาทวิ่งผ่านทางแยกเข้าโรงแรมไป เมื่อเข้าไปแล้วก็ซื้อบัตรเข้าชมราคา คนละ ๕๐๐ บาท อย่านึกว่าแพง ดูการสร้างของพวกเขาแล้วก็บอกได้เลยว่าเก็บค่าเข้าชมไปอีกร้อยปีก็ไม่คุ้ม ผู้สร้างคือคนเดียวกับผู้คิดสร้างเมืองโบราณ ที่สร้างมากว่า ๔๐ ปีแล้ว ก็ยังไม่หยุดการก่อสร้างคนเดียวกับผู้สร้างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ปราสาทสัจธรรมเริ่มสร้างมาตั้งแต่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๒๔ จน ๒๕๔๘ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ เป็นงานที่ไม่รู้จักคำว่าสิ้นสุด
ผู้สร้างมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูความสำคัญของศาสนาปรัชญา เพื่ออนุรักษ์รักษาศาสตร์ศิลปะงานไม้ที่ใช้วิธีการตั้งแต่โบราณ เข้าไม้แบบโบราณ ปราสาททั้งหลัง ไม่มีการใช้ตะปูตอกแม้แต่ตัวเดียว งานแกะสลักไม้แสนจะวิจิตรงดงามยิ่งนัก สร้างด้วยฝีมือช่างไทยในปัจจุบันทั้งหมด เป็นภูมิปัญญาของคนไทย ยิ่งใหญ่จริง ๆ ผู้เป็นเจ้าของโครงการ และออกแบบเอง ออกแบบไปสร้างไป ไม่ใช่ออกแบบจนเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มมีการก่อสร้าง ท่านผู้นี้คือ นายเล็ก วิริยะพันธ์ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วเมื่ออายุได้ ๘๗ ปี แต่งานของท่านยังไม่ได้หยุดตามชีวิตของท่านไปด้วย ลูกหลานยังทำต่อไป

 

ลักษณะเป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้ และแกะสลักทั้งหลัง มีความสูงจากพื้นดิน ๑๐๕ เมตร ยาวจากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก ๑๐๐ เมตร พื้นที่ภายใน ๒,๑๑๕ ตารางเมตร ใช้วิธีการเข้าไม้ยึดต่อไม้แบบโบราณ การเข้าเดือยตอกสลักเข้าลิ่มเข้าหางเยี่ยว การแกะสลักเป็นแบบนูนต่ำและลอยตัวเช่นรูปแกะสลักที่เสาสูง ไม่ได้แกะที่เนื้อไม้ของเสา แต่เอาไม้มาแกะจนเป็นรูปร่างเช่นรูปเทวรูป แล้วจึงเอาไปประกบไว้รอบเสา ไม้ที่ใช้เป็นไม้เนื้อแข็งเช่นไม้สักทอง ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้พันชาติ ไม้ตะเคียนคะนอง นำมาผสมผสานกันในการก่อสร้าง
มหาปราสาททรงไทยจตุรมุข ด้านล่างของฐานเป็นลักษณะฐานสิงห์ เข้าไปแล้วเย็นสบายมีหน้าต่างที่เจาะตรงกับทิศทางลมไม่ต้องติดตั้งพัดลมหรือแอร์ เป็นศิลปะแนวความคิดใหม่ที่เกิดการผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ของศิลปะอยุธยาตอนต้น ตอนปลาย และสืบต่อมาถึงศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ หลังคาทรงงอ่อน ซ้อนลดหลั่นกัน ๔ ด้าน ยอดเป็นสัญลักษณ์พระปรางค์ มียอดสูงทั้ง ๔ ด้าน และมีรูปแกะสลักลอยตัว สัญญลักษณ์ของเทพยืนบนยอดทั้ง ๔ ทิศ ยอดสูงสุดตรงกลางสูง ๑๐๕ เมตร เป็นรูปสลักเทพทรงประทับบนหลังม้า และ ๔ ด้านไม่เหมือนนกัน ซึ่งจะเห็นว่าแปลกไม่เหมือนที่ใดในโลกเท่าที่ผมเคยพบเคยเห็นมา เสาแต่ละต้นสูง ๒๖ เมตร กว้างโดยรอบ ๒ เมตร เศษ ๓ คนโอบจึงจะรอบ มีทั้งหมด ๑๗๐ ต้น      เมื่อซื้อบัตรเข้าชมที่สำนักงานทางซ้ายของประตูเข้าแล้ว หากต้องการเอารถลงไปจอดที่หน้าปราสาทเลยก็ได้ ต้องบอกให้เจ้าหน้าที่ทราบ หรือนั่งรถม้าลงไปก็สนุกดี ผมนั่งรถม้าลงไป และเมื่อไปถึงหน้าปราสาทแล้วก็จะไกด์สาวมาคอยบรรยาย การรับรองดีเยี่ยมจะไม่ปล่อยให้ผู้เข้าชมเก้อเขินเลย และจะเริ่มบรรยายตั้งแต่จะขึ้นสู่ตัวปราสาท ซึ่งเมื่อขึ้นไปแล้วทางประตูด้านทิศตะวันออก ก็จะพบกับรูปสลัก (เขาบอกว่าศักดิ์สิทธิ์ ขอพรได้) อันเป็นสัญญลักษณ์ของสถาบันครอบครัวมีพ่อแม่ลูกขอพร เกี่ยวกับการงานและครอบครัว (อย่าไปขอหวย) ช่องทางตะวันออกนี้คือ ทางเข้าปราสาท ขั้นบันไดนาคราชที่มีการแกะสลัก เหล่านางอับสร ร่ายรำคอยต้อนรับ แสดงความยินดี พื้นกระดานปูด้วยแผ่นไม้กว้างถึง ๑.๒๕ เมตร หนา ๒.๑๕ นิ้ว

ด้านทิศตะวันตก เป็นรูปจำหลักไม้นูนสูงและลอยตัวเกี่ยวกับคติความเชื่อของอินเดียว่าพระผุ้เป็นเจ้าสำคัญ ๓ พระองค์ คือ
พระอิศวร หรือพระศิวะ เทพเจ้าแห่งธาตุดิน ธาตุไฟ
พระนารายณ์ หรือพระวิษณุ  เทพเจ้าแห่งธาตุน้ำ
พระพรหม  เทพเจ้าแห่งธาตุลม
ภายในเป็นศิลปะที่ผสมผสาน มีทั้งไทย จีน อินเดีย ด้านบนประดิษฐานพระพรหมพักตร์ใหญ่มหึมา เป็นแบบที่ไม่เหมือนของใคร คือพรหมวิหาร ๔ หรือ คุณธรรม ๔ ประการ
ด้านทิศเหนือ  เป็นภาพสลักนูนสูง เรื่องราวของพระโพธิสัตว์ พระบัญชูศรี พระอมิตาพุทธ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรกวนอิม โป๊ยเซียน เทพ และเซียนต่าง ๆ ตามคติของชาวพุทธมหายาน
ด้านทิศใต้ เป็นภาพไม้สลักนูนสูงที่หน้าต่าง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระนารายณ์อวตาร
ใจกลางปราสาท เป็นห้องโถงใหญ่ มีบุษบกทรงสถูปไม้แกะสลักสูงสง่างาม ในช่องประตูไม่มีเทวรูป สื่อถึงความหลุดพ้นอันเป็นอมตะสัจธรรม

ก็เป็นอีกสถานที่ ที่น่าจะไปเที่ยวชม วันหยุดสุดสัปดาห์นี้พาครอบครัวไปกันนะครับ

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น