ใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่มาอีกปีแล้ว….  วันเวลาผ่านไปรวดเร็วอะไรเช่นนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของเพื่อนๆ พี่ๆ ทุกคนน้องบารมีขอพาไปแนะนำวัดที่ไม่ควรพลาดในการไปกราบไหว้ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้นะจ๊ะ

โดยปกติวัดที่ได้รับความนิยมให้ไปกราบไหว้นั้น ล้วนมีชื่อเป็นสิริมงคลมากๆ…

  1. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร (วัดกัลยา, วัดซำปอกง)
  2. วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร (วัดชนะสงคราม)
  3. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
  4. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
  5. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร (วัดระฆัง)
  6. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดสุทัศน์)
  7. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)
  8. ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
  9. ศาลเจ้าพ่อเสือ พระนคร
ซึ่งในตอนที่ 1 นี้ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หรือที่คนไทย เรียกกันว่า “วัดกัลยา, วัดซำปอกง” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ไปกราบไหว้ขอพรเพื่อ “เดินทางปลอดภัยดี มีมิตรไมตรีที่ดี” 
ประวัติความเป็นมา

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ต้นสกุลกัลยาณมิตร ว่าที่สมุหนายก ได้อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียง ซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีภิกษุจีนพำนักอยู่ และเรียกกันต่อมาว่า “หมู่บ้านกุฎีจีน” สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” และทรงสร้างพระวิหารหลวงและพระประธานพระราชทาน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต ด้วยมีพระประสงค์จะให้เหมือนกรุงเก่า คือมีพระโตอยู่นอกกำแพงเมือง อย่างเช่นวัดพนัญเชิง

หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง โดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน เรียกชื่อแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๕ วา ๓ ศอกคืบ สูง ๗ วา ๒ ศอกคืบ ๑๐ นิ้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชทานช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ เสด็จก่อพระฤกษ์เมื่อ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ อยู่ภายในพระวิหารขนาดใหญ่อยู่กลางวัด ตรงกลางระหว่างวิหารเล็กและพระอุโบสถ

พระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ (ป่าเลไลย์) ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างพระราชทาน เป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงพุทธประวัติ และแสดงชีวิตชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ ๓ และยังมีหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ ๔

หน้าวิหารหลวงเป็นหอระฆังที่เพิ่งสร้างใหม่ เก็บระฆังยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

บริเวณเขตพุทธาวาสมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ด้านหลังมีประตูออก 1 ประตู ก่อประตูโค้งแบบศิลปะสมัยรัชกาลที่ 4 ออกไปสู่บริเวณเขตสังฆาวาสที่มีถนนคั่นอยู่ข้างนอก ระหว่างพระวิหารใหญ่กับพระวิหารเล็ก มี “หอระฆัง” คั่นกลาง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดความกว้าง 9 เมตร ความสูง 30 เมตร พระสุนทรสมาจาร (พรหม อินฺทโชติ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2476 ด้านล่างของหอระฆังได้ติดตั้ง “ระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” ส่วนด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติศาลาการเปรียญ 5 ห้อง ตั้งอยู่มุมวัดด้านตะวันออก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร)ด้านข้างศาลาการเปรียญด้านตะวันตกเฉียงเหนือ มีพระเจดีย์ประดับหินอ่อน สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร) เมื่อยังเป็นพระยาราชวรานุกูล เมื่อปี พ.ศ.2407 โดยนำอัฐิของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ผู้เป็นบิดา มาบรรจุไว้

พระอุโบสถ สร้างขึ้นตรงบริเวณบ้านเดิมของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดกว้าง 20.88 เมตร ยาว 30.90 เมตร ลักษณะสถาปัตยกรรมจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับ หน้าบันปั้นลายดอกไม้ประดับกระเบื้องเคลือบสลับสีลายจีน ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นลายดอกไม้ประดับกระจก

ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ และภาพเครื่องบูชา เป็นโต๊ะลดหลั่นกันแบบจีน เสาเขียนลายทรงข้าวบิณฑ์ หันหน้าไปทางเหนือ
กล่าวกันว่า “พระโต” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ตามคำเล่าขานของชาวบ้านว่าได้เห็นอภินิหารของ “พระโต” หลายอย่างดังเช่นเมื่อครั้งทำพิธียกช่อฟ้า “พระวิหารหลวง” อันเป็นที่ประดิษฐาน “พระโต” ผู้คนทั้งหลายได้เห็นนิมิตดีอันหนึ่ง ปรากฏเป็นสายยาวมีรัศมีพวยพุ่งจากท้องฟ้า ตกลงมาจรดช่อฟ้าสว่างไสวไปทั่วอาณาบริเวณวัด เป็นที่อัศจรรย์แก่สายตาพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมในงานพิธียกช่อฟ้าพระวิหารหลวงยิ่งนัก ในหนังสือ “นิทานโบราณคดี” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึง “พระโต” เมื่อครั้งทำการปราบปรามอั้งยี่ในสมัยต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ว่า“ส่วนการควบคุมพวกอั้งยี่นั้น สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็อนุโลมเอาแบบอย่างอังกฤษ “เลี้ยงอั้งยี่” ที่ในแหลมมลายูใช้ ปรากฏว่าให้สืบเอาตัวจีนเถ้าแก่ที่เป็นหัวหน้าอั้งยี่ได้ 14 คน แล้วตั้งข้าหลวง 3 คน คือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ เมื่อครั้งยังเป็นพระยาเทพประชุน (ซึ่งเคยไปปราบอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ต) คนหนึ่ง พระยาโชฏึกราชเศรษฐีคนหนึ่ง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เนียม) ซึ่งเป็นผู้บังคับการกองตะเวณ (โปลิศ) ในกรุงเทพฯ คนหนึ่ง พร้อมด้วยขุนนางจีนเจ้าภาษีอีกบางคน พาพวกหัวหน้าอั้งยี่ 14 คนนั้นไปทำพิธีถือน้ำกระทำสัตย์ในวิหารพระโต ณ วัดกัลยาณมิตร ซึ่งคนจีนนับถือมาก รับสัญญาว่าจะไม่คิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว และจะคอยระวังพวกอั้งยี่ของตนมิให้คิดร้ายด้วย แล้วปล่อยตัวไปทั้ง 14 คน”

เป็นธรรมเนียมของคนจีนที่มักนิยมเข้าไปกราบมนัสการพระพุทธรูปใหญ่ตามวัดต่างๆ เช่น วัดพนัญเชิง วรวิหาร และวัดมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น วัดกัลยาณมิตรก็เช่นเดียวกัน “พระโต” ชาวจีนเรียกกันว่า “ซำปอกง” หรือ “ซำปอฮุดกง” นิยมไปเสี่ยงทาย ดังเช่น การเสี่ยงเซียมซี เป็นต้น ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ มีงิ้ว และงานทิ้งกระจาด เป็นประจำทุกปีในวันสิ้นเดือน 9

ชื่อ “ซำปอกง” นั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับ “เจิ้งเหอ” แม่ทัพเรือผู้กลายมาเป็นเทพเจ้า “ซำปอกง” อันศักดิ์สิทธิ์ เจิ้งเหอได้ชื่อว่าเป็นนักเดินเรือผู้เกรียงไกรที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศจีนและของโลก ผู้ใช้ชีวิตอยู่บนผืนมหาสมุทรและดินแดนต่างถิ่นเป็นระยะเวลาถึง 22 ปี

เจิ้งเหอ (Zheng He หรือ Cheng Ho) เกิดเมื่อปี พ.ศ.1914 ที่ตำบลคุนหยาง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีชื่อเดิมว่า “หม่าเหอ” พื้นเพครอบครัวเป็นชาวมุสลิม มีปู่และบิดาเป็นผู้นำฮัจญ์ของเมืองคุนหมิงและคุนหยาง ครั้นอายุได้ 10 ปี เมื่อกองทัพแห่งราชวงศ์หมิงยกทัพมากวาดล้างกองทัพมองโกลที่ยังปกครองมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศ ได้กวาดต้อน “หม่าเหอ” เป็นเชลย โดยในปี พ.ศ.1926 หม่าเหอถูกจับตอนเป็นขันที และได้เข้าไปรับใช้ในราชสำนักของเจ้าชายจู้ตี้ พระราชโอรสองค์ที่ 4 ของจักรพรรดิหงหวู่

ในบันทึกของครอบครัวได้กล่าวถึง “หม่าเหอ” ไว้ว่า “หม่าเหอมีความสูงถึงเจ็ดฟุต (หนึ่งฟุต (ฉื่อ) ของจีน มีขนาดความยาวเท่ากับ 10.5-11 นิ้วฟุตของอังกฤษ) มีเส้นรอบเอวถึง 5 ฟุต มีแก้มและหน้าผากสูง แต่มีจมูกค่อนข้างเล็ก มีดวงตาที่เปล่งประกาย มีฟันที่ขาวสะอาด มีเสียงที่ดังกังวานดุจระฆังใบใหญ่ มีความรอบรู้ในเรื่องงานการศึกสงคราม เพราะเขาได้อยู่ใกล้ชายแดนที่เมืองเป่ยผิงกับองค์เจ้าชาย”
ในปี พ.ศ.1946 หม่าเหอได้รับพระบรมราชโองการจากจักรพรรดิหย่งเล่อ (เจ้าชายจู้ตี๋) ให้ควบคุมการก่อสร้างกองเรือมหาสมบัติ หรือ “เป่าฉวน” และในปีเดียวกันนั้น หม่าเหอได้เข้าเป็นพุทธมามกะ โดยรับศีลจากพระเต้าเอี่ยน พระภิกษุผู้ลือนามในสมัยนั้นในปี พ.ศ.1947 “หม่าเหอ” ได้รับพระราชทานแซ่ “เจิ้ง” และเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าขันที “เน่ยกวนเจี้ยน”การออกเดินเรือของกองเรือสมุทรยาตราของเจิ้งเหอ ทั้งหมดถึง 7 ครั้ง อยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.1948 อันเป็นปีที่ 3 ในรัชสมัยจักรพรรรดิหย่งเล่อ ถึงปีที่ 8 แห่งรัชสมัยจักรพรรดิซวนเต๋อ ครั้งถึงปี พ.ศ.1976 ได้การออกเดินเรือไปเยือนประเทศต่างๆ ถึง 30 กว่าประเทศ ในดินแดนอุษาคเนย์ ชมพูทวีป อาหรับ คาบสมุทรอาระเบีย และแอฟริกา เป็นระยะทางเดินเรือกว่า 50,000 กิโลเมตร

ในบันทึกของ “หมิงสื่อลู่” บันทึกประวัติศาสตร์ของราชวงศ์หมิง ระบุว่ากองเรือมหาสมบัติของเจิ้งเหอได้เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาในการออกสมุทรยาตราครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ.1951-1952 อันเป็นปีที่สมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทั้งนี้ สมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ 1 หรือพระนครอินทร์แห่งรัฐสุพรรณภูมิ ก่อนขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงคุ้นเคยกับราชสำนักจีนด้วยเคยเสด็จไปเป็นทูตถวายเครื่องราชบรรณาการยังราชสำนักจีนด้วยพระองค์เองถึง 3 ครั้ง

นอกจากนั้น “หมิงสื่อลู่” ยังได้บันทึกอีกว่า เจิ้งเหอได้เดินเรือเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาอีก 2 ครั้ง คือ ในครั้งที่ 3 และครั้งที่ 7 ความเกี่ยวพันของ “เจิ้งเหอ” ที่กลายมาเป็นเทพเจ้า และหลวงพ่อโต “ซำปอกง” อันศักดิ์สิทธิ์นั้น เป็นไปได้ว่าเมื่อกองเรือเจิ้งเหอได้เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา กองเรือส่วนหนึ่งอาจจะจอดเรือเทียบท่าอยู่บริเวณใกล้วัดพนัญเชิง ที่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐระบุว่า ได้สร้างขึ้นก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี (พ.ศ.1867) และเป็นย่านการค้าขายนานาชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคนี้

หนังสือ “600 ปี สมุทรยาตรา เจิ้งเหอ แม่ทัพเรือผู้กลายมาเป็นเทพเจ้า “ซำปอกง” อันศักดิ์สิทธิ์” สำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์ขึ้น ได้กล่าวไว้ว่า “จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่าเจิ้งเหอจะได้มาสักการะหลวงพ่อองค์นี้ ทำให้ชาวจีนที่เลื่อมใสศรัทธาในตำนานวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของเจิ้งเหอ และมีจำนวนไม่น้อยที่เชื่อกันมาว่าตนเองเป็นลูกหลานของซำปอกง เพราะมีบรรพบุรุษซึ่งติดตามกองเรือของเจิ้งเหอมาได้ขอพำนักอาศัยอยู่ในดินแดนที่ตนไปเยือน จึงเรียกชื่อหลวงพ่อโตองค์นี้ตามชื่อของท่านว่า “หลวงพ่อซำปอกง” เพื่อเป็นตัวแทนของเจิ้งเหอก็เป็นได้”คำว่า “ซำปอกง” หรือ “ซานเป่ากง” สันนิษฐานว่า อาจเป็นชื่อรองที่บิดามารดาได้ตั้งไว้ให้แก่เด็กชายหม่าเหอว่า “ซ่านเป่า” ซึ่งแปลว่า บุตรคนที่ 3 ผู้มีค่าดุจรัตนะหรือดวงแก้วแห่งบุพการีหรืออาจเป็นฉายาของเจิ้งเหอ เมื่อได้เข้ามานับถือศาสนาพุทธแล้ว ด้วย “ซานเป่า” ยังหมายถึง “ไตรรัตน์” หรือ “ดวงแก้วทั้งสาม” อันหมายถึงพระรัตนตรัย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทานนาม “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต” ณ วัดพนัญเชิง วรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา และวัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”

กล่าวสำหรับ วัตถุมงคล “พระพุทธไตรรัตนนายก” วัดกัลยาณมิตร เป็นอีกเหรียญ “พระพุทธรูปล้ำค่า” ที่ได้รับความนิยมของนักสะสมพระเครื่อง ซึ่งมีการสร้างหลายครั้งหลายครา เป็นรูปองค์พระพุทธปฏิมากร “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ “ซำปอกง” หรือ “ซำปอฮุดกง”อย่างเหรียญแรกที่นำมา เป็นเหรียญปั๊มรูปองค์พระพุทธไตรรัตนนายก ประทับนั่งปางมารวิชัย บนอาสนะฐานบัว 2 ชั้น อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วที่แกะลวดลายเป็นรูปพญานาค ด้านบนเป็นรูปดวงแก้วเปล่งรัศมี และภาษาจีน 4 ตัว ว่า “ซำปอฮุดกง” ข้างเหรียญแกะลายกระหนกอย่างงดงาม ในส่วนของด้านหลังเรียบ มีรอบบุ๋มเป็นรูปองค์พระ เหรียญรุ่นนี้ไม่ระบุปีที่สร้าง หากดูรูปแบบแล้วน่าจะสร้างใกล้เคียงกับการสร้างเหรียญพระพุทธรูป วัดไชโย วรวิหาร จ.อ่างทอง ส่วนเหรียญที่ระบุปีสร้างอย่างชัดเจน คือ ปี พ.ศ. 2468 ซึ่งมี 2 แบบ คือเหรียญปั๊มพระพุทธไตรรัตนนายก แบบที่ 1 ด้านหน้าเป็นรูปองค์พระพุทธไตรรัตนนายก ประทับนั่งบนอาสนะฐานบัว 2 ชั้น ภายในซุ้มประภามณฑลแบบซุ้มพระพุทธชินราช ด้านบนเป็นรูปดวงแก้วเปล่ง ใต้อาสนะฐานบัวมีตัวเลขระบุปีสร้าง พ.ศ.2468

ส่วนของด้านหลัง พื้นเหรียญเรียบ มีอักขระขอม และอักษรไทยว่า “ฦๅ ฦๅ” ด้านบนเหรียญเป็นอักษรจีนว่า “ซำปอฮุดกง” ล่างสุดเป็นอักษรไทยว่า “หลวงพ่อกัลยา”

เหรียญปั๊มพระพุทธไตรรัตนนายก แบบที่ 2 ด้านหน้าเป็นรูปองค์พระพุทธไตรรัตนนายก ประทับนั่งบนอาสนะฐานบัว 2 ชั้น ภายในซุ้มประภามณฑลแบบซุ้มพระพุทธชินราช ด้านบนเป็นรูปดวงแก้วเปล่ง ด้านข้างดวงแก้ว และบริเวณพระชานุทั้งสองข้างมีอักษรจีนอีก 4 ตัว ว่า “ซำปอฮุดกง” ด้านบนใต้หูเหรียญระบุว่า “หลวงพ่อกัลยา”

ส่วนของด้านหลัง พื้นเหรียญเรียบ มีอักขระขอม และภาษาไทยว่า “ฦๅ ฦๅ”

ทั้งสองแบบ เป็นเหรียญปั๊มขนาดสูงประมาณ 3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร พระสุนทรสมาจาร (พรหม อินฺทโชติ) ได้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งทำการปฏิสังขรณ์ปิดทององค์พระและฐานพระพุทธไตรรัตนนายก หลังปฏิสังขรณ์แล้วได้จัดงานสมโภช ระหว่างวันที่ 14-17 พฤษภาคม พ.ศ.2469 ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุทองอุณาโลมที่พระพักตร์พระพุทธไตรรัตนนายก และทรงปิดทอง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2469

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2473 ก็ได้มีการสร้างเหรียญปั๊มพระพุทธไตรรัตนนายกขึ้นอีก เป็นเหรียญปั๊มรูปลักษณะแบบเดียวกับเหรียญปั๊มพระพุทธไตรรัตนนายก แบบที่ 2 ปี (พ.ศ.2468) แต่ในส่วนของด้านหลังเหรียญนั้น ตรงกลางเป็นรูประฆัง ใต้ระฆังเป็นเลขปี พ.ศ.2473 อันเป็นปีทำเหรียญนี้ ด้านบนใต้หูเหรียญเป็นอักขระขอมกล่าวถึงระฆังแล้วนั้น ดูเหมือนจะมีความผูกพันอยู่กับพระสุนทรสมาจาร (พรหม อินฺทโชติ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ในสมัยที่พระวินัยกิจโกศล (ตรี จนฺทสโร) เป็นเจ้าอาวาสวัด คืนหนึ่งท่านเจ้าคุณสุนทรฯ ได้ฝันว่า มีผู้เฒ่านุ่งขาวห่มขาวคนหนึ่งพูดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างท่านก็ยกขึ้นหมดแล้ว แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่ง ทำไมท่านจึงไม่ยกขึ้นเล่า พูดเท่านั้นผู้เฒ่าผู้นั้นก็หายไปต่อมา ท่านเจ้าคุณสุนทรฯ ได้เล่าความฝันนี้ให้ ท่านพระครูสุนทรกาษฐโกศล (ทับ) ฟัง และถามว่า ยังจะมีสิ่งใดอีกบ้างที่ท่านยังไม่ได้ยกขึ้น ท่านพระครูสุนทรกาษฐโกศล (ทับ) ตอบว่า สิ่งอื่นก็ไม่เห็นมีอะไร นอกจากระฆังเก่าใบหนึ่งซึ่งเก็บรักษาไว้ในวิหารเล็กนานตั้ง 40 ปีมาแล้ว เห็นควรสร้างหอขึ้นใหม่ ท่านเจ้าคุณสุนทรฯ ก็เห็นชอบด้วย จึงมอบหมายให้ท่านพระครูสุนทรกาษฐโกศล (ทับ) เป็นผู้ออกแบบแปลนและคุมงานก่อสร้าง พอสร้างเสร็จก็นำระฆังเก่าโบราณนั้นมาแขวนไว้ที่หอนี้

ต่อมาในปี พ.ศ.2473 พระสุนทรสมาจาร (พรหม อินฺทโชติ) ได้ดำเนินการสร้างระฆังใบใหญ่ขึ้น ความสูงแต่ปากระฆังถึงบัว 2.46 เมตร แต่ตัวนาคถึงยอด 1.37 เมตร ความสูงแต่ปากระฆังถึงยอดสุด 3.83 เมตร ปากระฆังกว้าง 1.93 เมตร ได้ให้ช่างไทยหล่อหนึ่งครั้งไม่สำเร็จ จึงให้ช่างญี่ปุ่นชื่อนายฟูจิวารา ก่อนหล่อได้อธิษฐานขอพรพระพุทธไตรรัตนนายก “ซำปอกง” แล้วจึงทำการหล่อ แต่ต้องหล่อถึง 3 ครั้งจึงสำเร็จ

ในการหล่อระฆังครั้งนี้ ได้ทำการสร้างเหรียญปั๊มพระพุทธไตรรัตนนายกขึ้นเป็นที่ระลึกขึ้นด้วย เป็นเหรียญปั๊มมีขนาดความกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ความสูงประมาณ 2.2 เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นรูปองค์พระพุทธปฏิมากรพระพุทธไตรรัตนนายก ประทับนั่งปางมารวิชัยบนอาสนะฐานบัว 2 ชั้น เบื้องบนเป็นดวงแก้วเปล่งรัศมี ด้านข้างมีอักษรจีน 2 ตัว และที่บริเวณพระชานุ (เข่า) ทั้งสองข้างอีก 2 ตัว อ่านได้ว่า “ซำปอกง” ใต้หูเหรียญเป็นอักษรไทยว่า “หลวงพ่อกัลยา” ส่วนด้านหลังตรงกลางเป็นรูประฆัง และใต้ระฆังเป็นตัวเลขปี พ.ศ.2473 ที่สร้างเหรียญ ด้านบนใต้หูเหรียญเป็นอักขระขอมสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่งของพระพุทธไตรรัตนนายก คือ ฮู้ (ยันต์) ที่ได้รับความเคารพศรัทธาจากชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นอย่างยิ่ง ในการนำมาติดไว้ที่หน้าประตูบ้าน หรือพกติดตัวเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตทั้งนี้ หากกล่าวถึง “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต” หรือ “ซำปอกง” องค์ใหญ่ที่เด่นๆ จะมีเพียง 3 วัดในประเทศไทย คือ ประดิษฐาน ณ วัดพนัญเชิง วรวิหาร ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา, วัดอุภัยภาติการาม ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา และแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ณ วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร นั่นเอง

รอติดตามชมตอนต่อไปได้นะจ๊ะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก wikipedia.org และ dhammajak.net
เขียนและเรียบเรียงโดย : น้องบารมี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น