วัดพระทอง เที่ยวภูเก็ต โดยพี่มหาทอง

วัดพระทอง  ภูเก็ต

 

ทั่วทุกถิ่นในเมืองไทยไม่มีพระประธานวัดใดเหมือนที่วัดพระทองจังหวัดภูเก็ต  เนื่องจากองค์พระประธานที่วัดแห่งนี้มีให้เห็นเพียงครึ่งองค์  ราวกับว่าท่านผุดขึ้นมาโปรดจากพื้นปฐพี  ชาวภูเก็ตจึงขนานนามว่า “พระผุด” อันเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวจังหวัดภูเก็ตมานมนาน  หรือที่รู้จักกันอีกในนามหนึ่งว่า “หลวงพ่อพระทอง”

 

 

วัดพระทอง นั้นเป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย   แม้ไม่ทราบที่มาแน่ชัดเกี่ยวกับที่มาของหลวงพ่อพระผุดนี้ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด  แต่มีตำนานเก่าแก่เล่ากันว่า พบอยู่ที่ภูเก็ตนี้เนิ่นนานมาแล้ว  โดยมีนิทานพื้นบ้านกล่าวว่าครั้งหนึ่งมีเด็กเลี้ยงควายได้เอาควายไปผูกไว้กับพระเกตุมาลาเพราะคิดว่าเป็นไม้  หลังจากที่กลับมาถึงบ้าน  ทั้งเด็กและควายก็เสียชีวิตลงโดยไม่ทราบสาเหตุ  ต่อมาพ่อของเด็กได้มีฝันบอกเหตุว่า เป็นเพราะบุตรชายได้เอาควายไปผูกไว้ที่พระเกตุมาลาของพระพุทธรูป  ในตอนรุ่งเช้าไปดูเข้าจึงรู้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่จมอยู่ในดิน  แต่ขุดขึ้นมาได้เพียงแค่ครึ่งองค์เท่านั้น  ภายหลังมีพระธุดงค์มาปักกลดบริเวณนั้นแล้วพบเข้าจึงได้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น

 

มีเรื่องเล่าอีกว่าเมื่อพระเจ้าปะดุงยกทัพพม่ามาตีเมืองถลางนั้น  ทหารพม่าพยายามขุดองค์พระผุดขึ้นมาจากพื้นดิน  เพื่อนำกลับไปพม่าแต่ไม่สำเร็จ  เพราะขุดลงไปคราใดก็มีฝูงมดและแตนไล่ต่อยจนต้องละความพยายาม ประจวบกับที่กองทัพไทยยกมาช่วยเมืองถลางจึงล่าถอยไป  มีคำกล่าวอ้างกันว่าสาเหตุที่เรียกพระผุดว่าพระทองอีกนามหนึ่งนั้น  เนื่องจากครั้งหนึ่งพระครูวิตถารสมณวัตร์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปเดิมในอดีต  ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและพระผุดเนื่องจากเกรงว่าจะทลายลง  เมื่อได้เอาเหล็กแหลมดอกเข้าไปใต้ฐานพระพุทธรูปนั้นมีเนื้อเป็นทองคำ  อยู่ด้านในแต่ก็ได้พอกปูนทับลงไปเช่นเดิม  ดังที่เห็นในปัจจุบันหากคำลือเลื่องนั้นได้แพร่หลายออกไปว่าพระผุดคือพระทองคำ จึงเป็นที่มาของชื่อพระทอง  และวัดพระทองนั่นเอง  ปัจจุบันบริเวณวัดพระทองแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน  ที่แสดงข้าวของเครื่องใช้ที่แสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในอดีตให้ได้ชมด้วย

สถานที่ตั้ง 

บ้านนาใน  ต.เทพกษัตรี  อ.ถลาง  จ.ภูเก็ต

ความเชื่อและวิธีการบูชา 

พระผุดหรือพระทองเป็นที่เคารพและศรัทธาของชาวภูเก็ตเป็นอย่างมาก  เชื่อว่าหากใครมากราบไหว้ของสิ่งใดก็จะสัมฤทธิ์ผล สมความปรารถนา  จะมีเงินมีทองไหลมาเทมา

วันและเวลาเปิด  ปิด 

พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน  ตั้งแต่เวลา 07.00 – 17.00 น.

 

หมายเหตุ: ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.moohin.com/

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น