ศรีสุพรรณอารามหรือวัดศรีสุพรรณหรือวัดสุภัน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ อยู่บนพื้นที่ระหว่างกำแพงชั้นในและกำแพงชั้นนอก ในอดีตเป็นวัดหนึ่งในหมวดอุโบสถวัดนันทารามขึ้นแก่วัดหมื่นสาน

วัดศรีสุพรรณ ในสมัยต่างๆ

วัดศรีสุพรรณสมัยราชวงศ์มังราย

มีศิลาจารึกวัดศรีสุพรรณซึ่งทำด้วยหินทรายแดง จารึกประวัติวัดศรีสุพรรณด้วยอักษรฝักขาม ข้อความในศิลาจารึกวัดศรีสุพรรณ เป็นหลักฐานยืนยันว่าวัดศรีสุพรรณซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนแห่งนี้ สร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้วหรือพญาแก้วกษัตริย์ ราชวงศ์มังราย (พ.ศ.2038 – 2068) ซึ่งเป็นยุคทองของล้านนาที่สืบต่อมาจากสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1984 – 2030) และพญายอดเชียงราย (พ.ศ.2030 – 2038) ครั้งนั้นได้กัลปนาที่นาแปลงใหญ่และข้าวัดจำนวน 20 ครัวให้วัดศรีสุพรรณได้เริ่มต้นชุมชนวัดศรีสุพรรณอย่างเป็นทางการตั้งแต่ นั้นมา

วัดศรีสุพรรณยุคกาวิละฟื้นเมือง

พ.ศ.2317 พญาจ่าบ้าน (บุญมา) เจ้ากาวิละและน้องๆ ร่วมกับกองทัพกรุงธนบุรีขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่ และต่อมา พ.ศ.2325 สมัยรัตนโกสินทร์ ได้แต่งตั้งเจ้ากาวิละครอง เมืองเชียงใหม่ ในยุคนี้ได้มีการให้ผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในเมืองเชียงใหม่ โดยส่วนที่เป็นช่างฝีมือทำเครื่องเงินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณรอบวัด หมื่นสารและวัดศรีสุพรรณ เกิดเป็นชุมชนใหม่ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวลุ่มน้ำคง ในสมัยต่อมา เมื่อมีการสำรวจรายชื่อวัดในเชียงใหม่จึงจัดวัดศรีสุพรรณหรือ “วัดสุภัน” อยู่ในนิกายครงหรือนิกายคงเหมือนวัดพวกเปียซึ่งอยู่ใกล้กันชาวบ้านศรีสุพรรณ ส่วนหนึ่งจึงเรียกที่มาของตนว่าเป็น “ชาวคงน้ำฮ้า

ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 (พ.ศ.2399 – 2413) ปรากฏหลักฐานว่าพระองค์พร้อมเจ้าแม่อุษา(หรือ อุสาห์) ชายาได้เป็นเค้าในการสร้างวิหารวัดศรีสุพรรณเมื่อ จ.ศ.1222 (พ.ศ.2403) พร้อมสร้างระฆังขนาดใหญ่ด้วยทองหนักสองล้านเก้าหมื่นห้าพันหกร้อยตำลึงโดย ให้นำระฆังไว้ที่พระธาตุดอยสุเทพ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าวิหารที่เพิ่งถูกรื้อไปก่อนบูรณะครั้งล่าสุด (พ.ศ.2537 – 2541) สร้างในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 (พ.ศ.2399 – 2413)

วัดศรีสุพรรณสมัยเทศาภิบาล

ช่วง พ.ศ.2400 – 2420 ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 (พ.ศ.2399 – 2413) และสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ.2413 – 2440) วัดศรีสุพรรณนิกายคง มีเจ้าอธิการชื่อตุ๊สิทธิ มีรองอธิการชื่อ ตุ๊อินทจักร

ในยุคก่อนสมัยเทศาภิบาล วัดยังเป็นทั้งแหล่งธรรมและแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนที่ส่งบุตรหลานเข้าบวช เรียนจนมีโอกาสได้เป็นเจ้าอาวาส จนถึงสมัยเทศาภิบาล ในระยะแรกพระสงฆ์มีบทบาทในการสอนหนังสือที่วัดและชักชวนเด็กชายเข้าเรียน หนังสือ โดยใช้ศาลาวัดเป็นสถานที่เรียน ครั้น พ.ศ. 2464 มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464″ มีการเกณฑ์เด็กชาย-หญิงเข้าโรงเรียน จนถึง พ.ศ.2466 ขุนจรรยา (กิมเส็ง เสียมภักดี) ศึกษาธิการเมืองเชียงใหม่ ร่วมกับพระอินตาธรรมวงศ์เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณในสมัยนั้น ตั้งโรงเรียนชั้นประถมศึกษาขึ้นที่วัดศรีสุพรรณโดยได้ศรัทธาวัดคือหนานคำปัน ซึ่งรับราชการ แผนกสรรพากรเชียงใหม่และแม่อุ้ยคำออน การัตน์ เชื้อสายเจ้านายจากลุ่มน้ำคงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างศาลาวัดใช้เป็นสถาน ที่เรียนหนังสือของเด็กชาย-หญิง ทั้งในชุมชนวัดศรีสุพรรณและชุมชนข้างเคียงได้มาเรียนหนังสือ

วัดศรีสุพรรณสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้ใช้วัดศรีสุพรรณเป็นที่ตั้งกองทหารและกักกันเชลยศึก ส่งผลให้โรงเรียนวัดศรีสุพรรณต้องปิดการเรียนการสอน นักเรียนในชุมชนละแวกนั้นจึงต้องย้ายไปเรียนที่โรงเรียนวัดศรีปิงเมือง (เดิมเรียกว่าวัดป่าลาน) ต่อมา เมื่อโรงเรียนวัดศรีปิงเมืองปิดการเรียนการสอนอีก ก็ได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนวัดป่าแดด จนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง จึงได้ย้ายกลับมาเรียนที่โรงเรียนวัดศรีสุพรรณตามเดิม

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สภาพภายในวัดศรีสุพรรณมีแต่พงหญ้า ไม้ไผ่ (ไม้ซาง) ต้นฉำฉา ต้นตาลและต้นลาน รวมทั้งมีฝูงอีกาและนกต่างๆมาทำรัง ต่อมาในสมัยพระคำตัน (หนานคำตัน ไชยคำเรือง) เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณในสมัยนั้นได้ร่วมกับคณะศรัทธาวัด ก่อสร้างกำแพงวัดต่อจากสมัยพระมหาคำ ขนติพโล รวมทั้งได้สร้างศาลาตรงประตูวัดด้านทิศตะวันออกอีก 2 หลัง เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยจึงได้จัดให้มีงานฉลองกำแพงและศาลาวัดต่อมา ในส่วนของอาคารเรียน เด็กในชุมชนวัดศรีสุพรรณและชุมชนใกล้เคียงได้ใช้ศาลาวัดศรีสุพรรณเป็นสถาน ที่เรียนเรื่อยมา จนถึงพ.ศ.2481 จึงได้เรียนในอาคารเรียนแบบตึกครึ่งไม้ชั้นเดียว ไม่มีฝาผนัง ไม่มีฝากั้นห้องเรียน หลังคามุงด้วยดินขอ พื้นเป็นซีเมนต์ผสมปูนขาว


สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

พ.ศ. 2500-2510 พระครูสถิตบุญญานันท์ (พระอธิการบุญชม สุนันโท) เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณและครูเอื้อน คลังวิเชียร ครูใหญ่โรงเรียนวัดศรีสุพรรณได้หาเงินเพื่อสร้างอาคารเรียน 2 ชั้น แล้วเสร็จใน พ.ศ.2507 ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดของวัดได้มอบให้ขึ้นกับสังกัดเทศบาลนครเชียงใหม่ตามคำ สั่งที่ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2506 โดยโรงเรียนวัดศรีสุพรรณมีสีประจำโรงเรียน คือ สีเหลือง-แดง โดยสีเหลืองหมายถึงวัด ส่วนสีแดงหมายถึงชาติ

วัดศรีสุพรรณยุคทำสลุงหลวง

ในยุคนี้ ชุมชนเครื่องเงินวัวลายและชุมชนเครื่องเงินศรีสุพรรณได้สร้างสรรค์งานชิ้นสำคัญ ดังนี้

พ.ศ.2534 การทำสลุงหลวง น้ำหนักเงินสุทธิ 536 บาท ในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ พระชนมายุครบ 3 รอบ ในวันที่ 2 เมษายน 2534

พ.ศ.2535 การทำสลุงหลวง “แม่” น้ำหนักเงินสุทธิ 2,535 บาท เส้นผ่าศูนย์กลาง 109 เซนติเมตร เส้นรอบวง 339เซนติเมตร พร้อมฐานรองรับเป็นไม้สักสลักรูปช้าง 4 เศียร ลงรักปิดทองสูง 140 เซนติเมตร ในวโรกาสงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ โดยมีพิธีทูนเกล้าฯถวายบนพระตำหนักภูพิงค์อย่างยิ่งใหญ่ตระการตา

พ.ศ.2539 การทำสลุงหลวง “พ่อ” น้ำหนักเงินสุทธิ 2,999 บาท เส้นผ่าศูนย์กลาง 139 เซนติเมตร สูง 69 เซนติเมตร เส้นรอบวง 439 เซนติเมตร ฐานรองรับเป็นไม้สักแกะสลักรูปช้าง 4 เศียร รวมความสูงจากฐานถึงขอบสลุง 199 เซนติเมตร ลงรักปิดทอง มีลายประดับเป็นรูปบัวคว่ำ บัวหงาย ดอกพุดตาลลายประจำยามและลายก้านขด ในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครองราชย์ครบ 50 ปีและจัดพิธีกาญจนาภิเษกที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี สมัยนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด

ทั้งสามผลงานการสร้างนี้ ส่งผลให้คนทำงานช่างเงินและผู้มีส่วนร่วมทุกท่านมีความภาคภูมิใจ ชุมชนเครื่องเงินวัวลายและชุมชนเครื่องเงินศรีสุพรรณจึงกลับมามีความคึกคัก และมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้น มา

วัดศรีสุพรรณยุคปัจจุบัน

พ.ศ.2535 พระอธิการสุพล สุทธสิโล ต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูพิทักษ์สุทธิคุณ ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณสืบแทนพระครูสถิตบุญญานันท์ซึ่ง มรณภาพเมื่อพ.ศ.2533 และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณเมื่อ พ.ศ.2537 ท่านได้รับความร่วมมือจากชุมชนชาวบ้านศรัทธาวัดศรีสุพรรณ องค์กรภาคราชการทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง ชุมชนวิชาการทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง ภาคธุรกิจเอกชนและคณะบุคคลสำคัญ ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์เพื่อวัดศรีสุพรรณ ชุมชนวัดศรีสุพรรณและชุมชนย่านถนนวัวลายหลายประการ ที่สำคัญได้แก่

  • การบูรณะพระวิหาร

พระวิหารวัดศรีสุพรรณ ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 (พ.ศ.2399 – 2413) พระองค์ได้โปรดฯให้สร้างระฆังขนาดใหญ่ด้วยทองหนักสองล้านเก้าหมื่นห้าพันหก ร้อยตำลึง โดยให้นำระฆังไว้ที่พระธาตุดอยสุเทพ อาจกล่าวได้ว่า พระวิหารวัดศรีสุพรรณรุ่นบูรณะสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เป็นพระวิหารแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ที่เชื่อมโยงศรัทธาเจ้านายฝ่ายเหนือสายสำคัญ

พ.ศ.2537-2541คณะกรรมการวัดศรีสุพรรณภายใต้การนำของพระครูพิทักษ์สุทธิ คุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ ได้บูรณะพระวิหารครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะศรัทธาจำนวนมากรับเป็นเจ้าภาพ ดังมีรายชื่อเจ้าภาพปรากฏในส่วนต่างๆ ของพระวิหาร เช่นหม่อมธาดา ขุนศึกเม็งราย ภายในพระวิหารที่บูรณะใหม่ พระครูพิทักษ์สุทธิคุณได้รับความร่วมมือจากศิลปินในเชียงใหม่และต่างประเทศ เขียนภาพและออกแบบการจัดแสง สี และองค์ประกอบต่างๆ อย่างงดงาม ประสานเข้ากับผลงานของช่างครัวเงินผู้เป็นศรัทธาวัดได้อย่างลงตัวยิ่ง

  • การสร้าง พระเจ้า 500 ปี

พ.ศ.2543 วัดศรีสุพรรณมีอายุครบ 500 ปี คณะกรรมการวัดศรีสุพรรณภายใต้การนำของพระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ ได้จัดงานมรดกล้านนาภูมิปัญญาท้องถิ่น 500 ปีของวัดศรีสุพรรณ ช่วงวันที่ 29-31 มีนาคม 2543 ในงานดังกล่าวมีการหล่อพระเจ้า 500 ปีด้วยฝีมือคนในชุมชนบ้านช่างหล่อซึ่งเป็นศรัทธาวัดศรีสุพรรณด้วย

  • การสร้างให้วัดศรีสุพรรณเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของการศึกษาทั้งสามระบบ

โรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ ได้เริ่มต้นการศึกษาในระบบตั้งแต่ พ.ศ.2466 โดยขุนจรรยา (กิมเส็ง เสียมภักดี) ร่วมกับวัดศรีสุพรรณ สมัยพระอินตาธรรมวงศ์เป็น เจ้าอาวาส ต่อมา พ.ศ.2541 กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้ตั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนที่วัดศรีสุพรรณ โดยใช้หอไตรเป็นสำนักงานชั่วคราว เป็นการเริ่มต้นการศึกษานอกระบบที่วัดศรีสุพรรณ ซึ่งต่อมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดศรีสุพรรณ (ศรช.) สังกัดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่

ต่อมา ทางธรรมได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ประจำตำบลหายยาขึ้นที่วัดศรีสุพรรณ โดยพระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโรงเรียนปริยัติธรรมสายสามัญที่วัดสวนดอกระยะ หนึ่งด้วย และได้เชื่อมโยงการศึกษาของสงฆ์เข้ากับการศึกษาตามอัธยาศัยที่จัดขึ้นในวัด ศรีสุพรรณ

ดังนั้น วัดศรีสุพรรณจึงมีแหล่งเรียนรู้ของการศึกษาทั้งสามระบบตามพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ.2542 ครบถ้วน

  • การสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจบนถนนวัวลาย

ใน พ.ศ.2545 ชุมชนบนย่านถนนวัวลาย 3 ชุมชน คือชุมชนวัดศรีสุพรรณ ชุมชนวัดหมื่นสารและชุมชนวัดนันทาราม ได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมเพื่อเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจในชื่อ กาดหมั้วครัวเงิน ครัวรัก-ครัวหาง (อ่านว่า กาดหมั้ว คัวเงิน คัวฮัก-คัวหาง) เทศบาลนครเชียงใหม่สมัยนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์เป็น นายกเทศมนตรี รับเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมถนนคนเดินในทุกวันเสาร์ตั้งแต่นั้นมา เป็นการเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจบนถนนวัวลาย สร้างความคึกคักให้หวนคืนมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต่อมาองค์กรภาคราชการหลายโครงการได้เข้าหนุนเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมและ เศรษฐกิจของชุมชนย่านถนนวัวลายเป็นระยะตราบถึงปัจจุบัน

  • การบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดศรีสุพรรณ

ใน พ.ศ.2547 คณะกรรมการวัดศรีสุพรรณภายใต้การนำของพระครูพิทักษ์สุทธิคุณเจ้า อาวาสวัดศรีสุพรรณ มีมติให้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถวัดศรีสุพรรณครั้งใหญ่ โดยใช้ฐานคิดนำสมบัติชุมชนคือครัวเงิน สร้างเป็นงานศิลป์เพื่อแผ่นดิน นำประดับทุกส่วนของพระอุโบสถทั้งด้านในด้านนอกทำให้เป็น “อุโบสถเงิน” หลังแรกของโลกและเริ่มดำเนินการตั้งแต่นั้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะศรัทธาทั้งในเชียงใหม่และที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง จนบัดนี้ อุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณ มีเค้า “งามดั่งว่าถ่ายทอดพิภพท้าวอธิบดีสุราลัย”

 

อนึ่ง ในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 80 ปี ใน พ.ศ.2550 คณะกรรมการวัดศรีสุพรรณภายใต้การนำของพระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ มีมติให้น้อมเกล้าถวายงานสร้างพระอุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณเป็นที่ระลึกอย่าง หนึ่งของงานมหามงคลนี้ ตั้งแต่นั้นมา วัดศรีสุพรรณได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร โปรดฯให้วัดศรีสุพรรณเป็นวัดในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ และได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ประดับหน้าบันอุโบสถเงิน ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2552

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.watsrisuphan.org/jhn/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น