วันเฉลิมพระชนมพรรษา ทั่วทิศต่างพร้อมน้อมกราบไหว้ ถวายพระพรแด่แม่ฟ้าไทย บันดาลให้พระองค์ทรงพระเจริญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า ทีมงานโฮโรไกด์

จอมพลหญิง จอมพลเรือหญิง จอมพลอากาศหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล (ภายหลังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พลเอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับ หม่อมหลวงบัว กิติยากร เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ณ บ้านของพลเอกเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) และท้าววนิดาพิจาริณี (บาง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) บิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว กิติยากร ตั้งอยู่ที่ 1808 ถนนพระรามที่ 6 อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “สิริกิติ์” มีความหมายว่า “ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร”

 

พระราชกรณียกิจสังเขป

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของบุคคลผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบทห่างไกล ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยนี้

โครงการที่มีสาขาขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศโครงการหนึ่งก็คือ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ซึ่งในภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้ง เป็นรูปมูลนิธิ พระราชทานนามว่า “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 และเมื่อ พ.ศ. 2528 ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงามหลายสาขา เช่น การปั้น การทอ การจักสาน เป็นต้น

นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ยังทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการด้านสาธารณสุข โดยได้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย และหากเสด็จฯเยือนต่างประเทศ ก็มักจะทรงถือโอกาสเสด็จฯทอดพระเนตรกิจการกาชาดของประเทศนั้น ๆ เพื่อทรงนำมาปรับปรุงกิจการสภากาชาดไทยอยู่เสมอ

ในกิจทางด้านการทหารนั้น ทรงดำรงตำแหน่งพันเอกผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ทรงให้ความสนพระทัยต่อการดำเนินงานของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ตลอดมา โดยผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 จะเข้ามาถวายรายงานถึงผลการปฏิบัติงานพร้อมกับรับพระราชเสาวนีย์ตลอดจนคำแนะนำไปดำเนินการปฏิบัติอยู่เป็นประจำ[ต้องการอ้างอิง]

นอกจากปวงชนชาวไทยแล้ว บรรดาเพื่อนบ้านที่ต้องลี้ภัยอพยพมายังแผ่นดินไทย ก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สภากาชาดไทยไปให้ความร่วมมือกับกาชาดสากลในการช่วยเหลือผู้อพยพ และพระราชทานครูเข้าไปสอนวิชาชีพให้แก่ผู้อพยพ กิจการดังกล่าวได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนองค์กรระหว่างประเทศต่างพากันยกย่องและทูลเกล้าถวายรางวัลและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นจำนวนมาก ดังเช่น

  • องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญซีเรส เทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงยกฐานะของสตรีให้มีระดับสูงขึ้นและทรงเป็นผู้ “ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง” (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2522)
  • มหาวิทยาลัยทัฟส์ จากรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรมในฐานะที่ทรงยกระดับฐานะการครองชีพของประชาชน และช่วยบรรเทาทุกข์ของเด็ก (พ.ศ. 2523)
  • สหพันธ์พิทักษ์เด็ก แห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯถวายรางวัลบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็ก (9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524)
  • สถาบันเอเชียโซไซตี้ แห่งกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯถวายรางวัลด้านมนุษยธรรม (14 มีนาคม พ.ศ. 2528)
  • มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าของโลก สดุดีเทิดพระเกียรติ ในฐานะบุคคลดีเด่นด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า (19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529)
  • ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ทูลเกล้าฯถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ ซึ่งสถาบันแห่งนี้เคยมอบให้ แต่เฉพาะ ผู้ที่เป็นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็นที่รู้จักระดับโลกเท่านั้น (1 พฤษภาคม พ.ศ. 2531)
  • ศูนย์ศึกษาการอพยพ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐนิวยอร์ก กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปทรงรับรางวัลความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยประจำปี ณ วอชิงตัน ดี.ซี. (29 มีนาคม พ.ศ. 2533)
  • กลุ่มผู้สนับสนุนพิพิธภัณฑ์เด็กในสหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534)
  • องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุทโธ ในฐานะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอนุรักษ์และพัฒนางานศิลปหัตถกรรม ณ ศาลาธรรม จังหวัดเชียงใหม่ (30 มกราคม พ.ศ. 2535)
  • กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติคุณพิเศษในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษ 5 รอบ ในฐานะทรงอุทิศพระองค์ประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นผลให้แม่และเด็กนับล้านได้รับบริการขั้นพื้นฐาน (2 สิงหาคม พ.ศ. 2535)
  • กองทุนพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแห่งความเป็นเลิศในฐานะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพัฒนาสตรีไทย (2 สิงหาคม พ.ศ. 2535)
  • มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม (25 พฤษภาคม พ.ศ. 2538)

ขอบคุณข้อมูลจาก      th.wikipedia.org/wiki/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น