กิมจิ เกาหลี: 김치, MC: Gimchi, MR: Kimch’i มีข้อสันนิษฐานกันว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “ชิมเช” (เกาหลี: 침채, ฮันจา: 沈菜, MC: chimchae, MR:ch’imch’ae) ที่แปลว่าผักดองเค็ม กิมจิเป็นอาหารเกาหลีประเภทผักดองที่อาศัยภูมิปัญญาก้นครัวของชาวเกาหลี ด้วยการหมักพริกสีแดงและผักต่างๆ โดยทั่วไปจะเป็นผักกาดขาว ชาวเกาหลีนิยมรับประทานกิมจิเกือบทุกมื้อ และยังนำไปปรุงเป็นส่วนประกอบอาหารอีกหลายอย่าง เช่น ข้าวต้ม ข้าวสวย ซุป ข้าวผัด สตู บะหมี่ จนถึงพิซซาและเบอร์เกอร์ ปัจจุบันกิมจิมีมากกว่า 187 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีรสเผ็ด เปรี้ยว และมีกลิ่นฉุน แม้ปัจจุบันมีบริษัทอาหารผลิตกิมจิสำเร็จรูปหรือแบบสดขายตามห้างสรรพสินค้าก็ตาม แต่ชาวเกาหลีก็ยังนิยมทำกิมจิกินเองที่บ้าน

จุดเริ่มต้นของกิมจิ

เป็นที่เชื่อกันว่าการทำกิมจิเป็นการดองผักที่ถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 7 ในยุคนั้นช่วงฤดูหนาวในประเทศเกาหลี จะมีอากาศหนาวจัดไม่เหมาะกับการเพาะปลูก ชาวเกาหลีจึงคิดวิธีการถนอมอาหารขึ้น เพื่อมาทดแทนผักสดที่หาได้ยาก หนึ่งในนั้นคือการทำผักดองเค็มด้วยเกลือหมักในไหแล้วนำไปฝังดิน จึงเป็นจุดกำเนิดของกิมจิในยุคสมัยต่อมา

สมัยอาณาจักรโคเรียว

มีการค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับกิมจิจากตำรายารักษาโรคทางภาคตะวันออกของประเทศที่เรียกว่า “ฮันยักกูกึบบัง” (Hanyakgugeupbang) ในตำรากล่าวถึงกิมจิอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกคือหัวผักกาดฝานเป็นแผ่นดองด้วยซอสถั่วเหลืองเรียกว่า “กิมจิ-จางอาจิ” (Kimchi-jangajji) ชนิดที่สองใช้หัวไชโป๊เรียกว่า “ซุมมู โซกึมชอลรี” (Summu Sogeumjeori) เป็นที่เชื่อกันว่าได้มีการปรับปรุงรสชาติของกิมจิให้จัดจ้านขึ้น อีกทั้งเริ่มได้รับความนิยมว่าเป็นอาหารแปรควายรูปจึงเริ่มมีการทำกิมจิตลอดทั้งปีโดยไม่กำจัดเฉพาะช่วงฤดูหนาวเหมือนก่อน ทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นในสมัยอาณาจักรโคเรียวนี้

สมัยโชซอน

เล่ากันว่ากิมจิที่มีในสมัยโชซอน ชาวบ้านจะใช้ผักใบเขียวมาดองกับเกลือหรือเกลือกับเหล้าเท่านั้นซึ่งเรียกว่ารสดั้งเดิม ในเวลาต่อมาช่วงต้นศตวรรษที่ 17 (หลังจากที่ถูกญี่ปุ่นรุกรานในปี พ.ศ. 2135) จึงเริ่มมีการนำเข้าผักจากต่างประเทศ ส่วนพริกแดงจากญี่ปุ่นนำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวโปรตุเกส พริกจึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมอย่างหนึ่งในกิมจิหลังจากผ่านไปแล้ว 200 ปี ดั้งนั้นราวปลายสมัยราชวงศ์โชซอนสีของกิมจิจึงกลายเป็นสีแดง

ภายในราชสำนักโชซอนมีการทำกิมจิเพื่อใช้ถวายต่อกษัตริย์ในราชวงศ์โชซอนมีอยู่ด้วยกันสามชนิดได้แก่ “ชอทกุกจิ” (Jeotgukji) เป็นกิมจิที่ทำจากกะหล่ำปลีผสมกับปลาหมัก (ปลาหมักจะใช้เฉพาะคนชั้นสูงในสมัยนั้น) “คักดูกิ” (kkakdugi) เป็นกิมจิทำจากหัวผักกาด ส่วนชนิดสุดท้ายคือ “โชซอน มูซางซานชิก โยรีเจบ็อบ” (Joseon massangsansik yorijebeop) เป็นกิมจินำตำราอาหารของราชสำนักโชซอน โดยมีเรื่องเล่ากันว่ามีการทำกิมจิน้ำโดยมีลูกแพร์เป็นส่วนผสมใช้ทำก๋วยเตี๋ยวเย็นโดยเฉพาะ เพื่อทำถวายกษัตริย์โกชอง (Gojong) กษัตริย์องค์รองสุดท้ายของโชซอน เพราะพระองค์ทรงโปรดก๋วยเตี๋ยวเย็นผสมในกิมจิน้ำพร้อมด้วยน้ำซุปเนื้อ

ยุคปัจจุบัน

กิมจิเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวเกาหลีดังนั้นเวลามีการเดินทางในต่างแดนก็ไม่ลืมที่จะพกกิมจิติดตัวไปด้วย กิมจิจึงได้เริ่มแพร่หลายในวงกว้างโดยช่วงแรกเริ่มเข้าไปในประเทศใกล้เคียงก่อนคือ ประเทศจีน รัสเซีย รัฐฮาวาย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่น ถือได้ว่าเป็นชาติแรกที่นำกิมจิเป็นเครื่องเคียงในอาหารของชาติตนเอง โดยเรียกกิมจิของตนเองว่า คิมุชิ (Kimuchi) เพื่อให้เข้ากับการออกเสียงในภาษาญี่ปุ่น และกิมจิชนิดนี้มีการเปลี่ยนแปลงรสชาติให้เข้ากับอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น ต่อมากิมจิจึงเป็นที่นิยมขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ชาวต่างชาติในหลายประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และไทย

ขอบคุณข้อมูลจาก th.wikipedia.org/wiki/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น