“วัดสังฆทาน” ตั้งอยู่เลขที่ 100/1 หมู่ที่ 3 บ้านบางไผ่น้อย ตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ปัจจุบันมี “หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ” ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม แวดล้อมไปด้วยสวนของราษฎร 

วัดสังฆทานมีปูชนียวัตถุสำคัญ คือ พระประธานนามว่า “หลวงพ่อโต” สำหรับความเป็นมาของหลวงพ่อโตนั้น เนื่องจากวัดสังฆทานเป็นวัดร้างนับเป็นร้อยๆ ปีขึ้นไป การจดบันทึกไว้จึงไม่มี มีเพียงการเล่าขานต่อถึงความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น

“หลวงพ่อโต” พระประธานในโบสถ์แก้ว

วัดสังฆทานจะมีประเพณีทำบุญวันสงกรานต์ และสรงน้ำพระในเดือนเมษายน (วันที่ ๑๓-๒๐ เมษายน) เป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งเปลี่ยนผ้าห่มองค์พระหลวงพ่อโต ผ้าห่มที่ถูกเปลี่ยนจะนำมาฉีกแบ่งกันไปผูกข้อมือ-ผูกคอให้กับชาวบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ การบนหลวงพ่อโตมักโดยจะบนด้วยการจุดปะทัดเป็นเครื่องแก้บน

กว่าจะมาเป็นโบสถ์แก้ว

ปี 2511 หลวงพ่อสนองพบวัดสังฆทานร้างอยู่กลางสวน มีเพียงหลวงพ่อโตกับศาลาไม้มุงสังกะสีเก่าๆ บนที่ไร่เศษ พิจารณาแล้วว่าที่นี่เหมาะแก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาตาม “แนวทางธุดงคกรรมฐาน” เนื่องด้วยอยู่ใกล้แหล่งของผู้มีกำลังและปัญญาที่สามารถช่วยศาสนาได้ดีในอนาคต ท่านจึงตัดสินใจที่จะอยู่ที่นี่ แต่ขณะนั้นท่านคิดว่าตนเองยังมีบารมีไม่เพียงพอที่จะเป็นผู้นำที่นี่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าที่นี่ไม่เหมือนที่อื่นการจะเข้ามาทำอะไรนั้นทำได้ยาก จะต้องให้เขาเห็นดีให้เขาเข้าใจเพราะเป็นการเผยแผ่ธรรมะให้กับผู้มีปัญญา ท่านจึงตั้งใจกลับไปปฏิบัติธรรมในถ้ำหมีและถ้ำกระเปาะอีก 6 ปี

ปี 2517 หลวงพ่อสนองกลับมาวัดสังฆทานอีกครั้งเพื่อจำพรรษา ร่วมกับพระอีก 5 รูป ด้วยปฏิปทาตามหลักธุดงคกรรมฐาน ชาวบ้านบางคนตั้งข้อหาว่าเป็นพระคอมมิวนิสต์ ความเป็นอยู่จึงลำบาก ถูกข่มขู่ด้วยปืนและปาระเบิด บิณฑบาตเกือบไม่ได้ เมื่อนำอาหารมาเทรวมกันก็มีน้อยมากทุกรูปไม่ยอมตักอาหารใส่บาตร หลวงพ่อต้องเป็นผู้ตักใส่บาตรให้ น้ำดื่มต้องตักจากบ่อเก่ามาต้มฉัน ไม่มีน้ำปานะ ไม่มีไฟฟ้า

ปี 2518 หลวงพ่อสนองไปรับพระอาจารย์พลอย เตชพโล วัดเขาภูคา มาช่วยเป็นหัวหน้าช่าง ในการบูรณะองค์หลวงพ่อโต พร้อมพระเณรประมาณสิบกว่ารูป รวมทั้งชาวบ้าน การบูรณะที่แขนชำรุดมากต้องเอาแป๊บน้ำใส่แล้วโบกปูนทับ ส่วนที่ใดเนื้อปูนยุ่ยก็ขูดออกแล้วโบกปูนทับ นำปูนเก่ามาผสมปั้นเป็นหลวงพ่อสังกัจจายน์ (พระมหากัจจายนะ)

ปี 2537 หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก วางศิลาฤกษ์โบสถ์แก้ว ตรงกับวันมาฆบูชาที่ 25 กุมภาพันธ์ 2537 เวลา 02.46 น. คณะพระภิกษุ-สามเณรจากวัดสังฆทาน, วัดทุ่งสามัคคีธรรม อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี และวัดสาขาของวัดสังฆทานทั้งหมด (ในขณะนั้น 17 สาขา) เป็นจำนวนกว่า 200 รูป รวมทั้งสาธุชนจำนวนมากได้พร้อมใจกันน้อมจิตอธิษฐาน ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ ภาวนา เวียนเทียนรอบองค์หลวงพ่อโต

ถึงวันนี้โบสถ์แก้วได้ตั้งตระหง่านแซมพุ่มไม้ใบบัง ภายในเขตสีมาวัดสังฆทาน กำลังรอสายธารศรัทธาจากสาธุชนทั่วทุกสารทิศ ทั้งนี้ เพื่อโบสถ์แก้วหลังนี้จะได้เป็นศาสนสมบัติอันถาวรเป็นที่อุปสมบทแห่งกุลบุตรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาสืบไป

“การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” ของศาลาหลวงพ่อโต วัดสังฆทาน

ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2536 หลวงพ่อสนองดำริให้รื้อถอนศาลา เพื่อจะสร้างโบสถ์ใหม่ เนื่องด้วยศาลาหลวงพ่อโตมีความชำรุดทรุดโทรม และคับแคบไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนพระภิกษุสามเณร และผู้เข้ามาปฏิบัติธรรมได้ นอกจากนี้หลังคาสังกะสีเวลาฝนตกจะมีเสียงดังมาก หน้าร้อนก็จะร้อนมาก ดังนั้น พระภิกษุผ้าขาวและชาวบ้านจึงช่วยกันรื้อถอน แม้กระทั่งชาวอังกฤษที่เพิ่งเดินทางมาถึงก็ร่วมช่วยด้วย

“โบสถ์แก้ว” รูปแบบของโบสถ์ที่หลวงพ่อสนองดำริให้สร้างขึ้นใหม่นั้นเป็น “รูปทรงแปดเหลี่ยม”ทำด้วยกระจกทั้งหมด โดยท่านตั้งจุดประสงค์ว่าโบสถ์ของวัดสังฆทานต้องเป็นโบสถ์ที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดและถูกต้องตามความเป็นจริง

เมื่อแบบจำลองของโบสถ์ออกมาก็ถูกวิจารณ์ว่าทำไมโบสถ์จึงเป็นแก้วแปดเหลี่ยม ไม่ใช่ทรงไทยที่มีช่อฟ้า ใบระกา หลวงพ่อสนองได้ให้เหตุผลว่า

1. หลวงพ่อโตองค์ใหญ่มาก มีความสูงหลายเมตร ถ้าสร้างโบสถ์เป็นแบบทรงไทยต้องสร้างให้เศียรหลวงพ่อโตต่ำกว่าขื่อต่ำกว่าอกไก่ โบสถ์ต้องใหญ่มากต้องรับน้ำหนักมาก ทำ 2 ชั้นก็ไม่เหมาะ เพราะต้องการประหยัดพื้นที่ แต่ถ้าทำเป็นรูปเจดีย์แล้วสามารถให้หลวงพ่อโตอยู่ตรงกลางหรือตรงริมก็ได้ หลวงพ่อโตก็จะดูสวยสง่า และทรงแปดเหลี่ยมสมมุติเป็นมรรคองค์แปด

2. การสร้างโบสถ์ทรงไทยต้องลงทุนมากกว่าร้อยล้านบาทขึ้นไปจึงจะเสร็จ แต่โบสถ์แก้วใช้ประมาณ 50 ล้านบาท สร้างได้ 2 ชั้น และสามารถสร้างเสร็จได้เร็วกว่า เนื่องจากทางวัดจำเป็นต้องใช้โบสถ์ในการอุปสมบทหมู่ จุพระเป็นร้อย บรรพชาสามเณรปีละ 300 รูป มีการประชุมพระครั้งละสองสามร้อยรูป โบสถ์นี้สามารถจุคนได้ถึง 600 คน ด้านล่างใช้เป็นสำนักงาน ห้องเทป ห้องมูลนิธิ ห้องสมุด ฯลฯ มีประโยชน์อเนกประสงค์

“การใช้ประโยชน์อย่างสุด” ภายใต้ชั้นล่างของโบสถ์แก้ว มีการใช้ประโยชน์ดังนี้

1. เป็นที่สำหรับรับสมัครนักบวชเนกขัมมะ

2. เป็นห้องสมุด มีหนังสือธรรมะของครูบาอาจารย์ที่สำคัญๆ มากมาย

3. เป็นที่จำหน่ายหนังสือธรรมะ ซีดีธรรมะ และเป็นสถานที่ให้ยืมเทปธรรมะ รวมทั้ง เมื่อมีญาติธรรมมาปฏิบัติธรรมจำนวนมาก จนที่พักไม่เพียงพอ ชั้นล่างโบสถ์แก้วนี้ก็จะใช้เป็นที่พักได้อย่างดีทีเดียว

 

พระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา ประดิษฐาน ณ โบสถ์แก้ว

อัฐิธาตุของครูบาอาจารย์ต่างๆ ประดิษฐาน ณ โบสถ์แก้ว

ข้อมูลจาก dhammajak.net

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น