พระโกศ

พระโกศทรงพระศพ และการพระราชทานเพลิงศพ

เพื่อประกอบความรู้ พี่ดวงดีขอนำเอาความรู้เรื่องพระโกศและการพระราชทานเพลิงศพ มาให้อ่านนะจ๊ะ  น่าสนใจมากๆ

ใน “เรื่องตำนานพระโกศและหีบศพบรรดาศักดิ์” ที่กรมพระสมมตอมรพันธุ์ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ช่วยกันทรงเรียบเรียงขึ้น ตีพิมพ์ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๔ ระบุว่า พระโกศที่ทรงพระบรมศพและพระศพเจ้านาย กับโกศพระราชทานสำหรับศพข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์สูง มี ๑๔ อย่างโดยพระโกศที่มีลำดับยศสูงสุดคือพระโกศทองใหญ่ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อปี ๒๓๕๑ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้รื้อทองที่หุ้มพระโกศกุดั่นมาทำพระโกศทองใหญ่ขึ้นไว้สำหรับพระบรมศพของพระองค์ เมื่อทำพระโกศองค์นี้สำเร็จแล้ว โปรดให้เอาเข้าไปตั้งถวายทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในปีนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ จึงโปรดให้เชิญพระโกศทองใหญ่ไปประกอบพระศพเป็นครั้งแรก จึงเกิดเป็นประเพณีในรัชกาลต่อมาที่มีการพระราชทานพระโกศ ทองใหญ่ให้ทรงพระศพอื่นนอกจากพระบรมศพได้

อันที่จริง ประเพณีการเชิญพระบรมศพหรือพระศพลงสถิตในพระโกศยังไม่ปรากฏที่มาแน่นอน แต่สามารถสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่ามาจากคติพราหมณ์-ฮินดูผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมของคนในอุษาคเนย์ โดยมีการประยุกต์ให้เข้ากับรสนิยมทางศิลปะและลักษณะทางสถาปัตยกรรมของคนพื้นถิ่นจนทำให้พระโกศมีรูปร่างอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

เท่าที่มีการบันทึกมา นับถึงปัจจุบันมีพระโกศทองใหญ่ทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ รวมพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แล้วทั้งสิ้น ๗๓ พระองค์

อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมไทย อธิบายว่า พระโกศคือเครื่องราชูปโภคสำหรับเชิญพระบรมศพสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชภายหลังเสด็จสวรรคตลงสถิตเพื่อรักษาไว้จนถึงกาลกำหนดถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยมีส่วนประกอบสำคัญ ๒ ส่วนคือ “พระโกศ” กับ “พระลอง”

“พระโกศ” หมายถึง ที่ใส่ศพนั่ง เป็นรูปทรงกระบอก ปากผาย ก้นสอบเล็กน้อย ตั้งบนฐานบัวกลุ่ม ฝาทรงกลมมียอดทรงมัณฑ์ พระโกศสำหรับทรงพระบรมศพทำด้วยเงินปิดทองทั้งองค์ เมื่อเชิญพระบรมศพลงสถิตแล้วเจ้าพนักงานได้เชิญขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้า จึงเชิญเอา

พระโกศ


“พระลอง” ประกับหุ้มพระโกศอีกชั้นหนึ่ง โดยพระลองมีลักษณะคล้ายกับพระโกศ ต่างก็แต่มีลักษณะทำเป็นสองซีกสามารถประกับเข้าด้วยกันได้ โครงในทำด้วยไม้ ภายนอกหุ้มทองจำหลักลวดลายอย่างวิจิตร ประดับด้วยอัญมณีต่างๆ เป็นเครื่องราชูปโภคสำคัญสำหรับประกับหุ้มพระโกศเพื่อถวายพระเกียรติยศพระบรมศพ หรือพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเฉพาะราย ในสมัยต่อมาเกิดการสับสน เรียกพระลองกับพระโกศปะปนกัน

นอกจากนี้ยังมีการสร้างพระโกศจันทน์ ทำจากไม้จันทน์หอมฉลุลวดลายวิจิตรบรรจงตามแบบโบราณราชประเพณีสำหรับการถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพ สำหรับพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมศิลปากรได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่สร้างพระโกศจันทน์ โดยได้ต้นแบบมาจากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องเกี่ยวกับการเชิญพระบรมศพหรือพระศพลงสถิตในพระโกศ ในขั้นตอนของการทำสุกำพระบรมศพหรือพระศพ (แต่งศพและบรรจุศพ) ที่คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าต้อง “เสียบ” คือใช้ไม้เสียบเข้าไปในพระวรกายเพื่อให้พระบรมศพหรือพระศพตั้งอยู่ในท่าที่ถูกต้อง

พระโกศ
พระโกศ

ลายเส้นจำลองลักษณะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระโกศทองใหญ่ จากจินตนาการของเคาน์โบวัว(Le Comte de Beauvoir) ชาวฝรั่งเศสซึ่งมาเยือนกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๐๙ และได้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ ๔ ต่อมาภาพนี้ตีพิมพ์ที่กรุงปารีสในปี พ.ศ.๒๔๑๑

แต่หลักฐานต่างๆ เท่าที่ปรากฏ อาทิ คำให้การขุนหลวงหาวัด คำให้การเชลยศึกที่เขียนขึ้นหลังเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี ๒๓๑๐ รวมถึง จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ ล้วนให้ภาพต่างไปจากนี้โดยสิ้นเชิง

คำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงพิธีการนี้ในพระราชพิธีงานพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า “แล้วจึงเอาไม้ง่ามหุ้มทองนั้นค้ำพระหนุเรียกว่าไม้กาจับหลัก จึงประนมกรเข้าแล้วเอาซองหมากทองปากประดับใส่ในพระหัตถ์แล้วเอาพระภูษาเนื้ออ่อนพันเข้าเปนอันมาก ครั้นได้ที่แล้วจึงเอาผ้าขาวเนื้อดีสี่เหลี่ยมเข้าห่อเรียกว่า ผ้าห่อเหมี้ยง ตามอย่างธรรมเนียมมา”

ใน จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ กล่าวถึงการทำสุกำพระบรม- ศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยเริ่มจากการถวายเครื่องค้ำพระเศียรคือ พระปทุมปัตนิการ (ไม้กาจับหลัก) รองที่พระบาท ไม้นี้มีก้านออกมาค้ำพระหนุ (คาง) ให้พระเศียรอยู่ในท่าที่เหมาะสม แล้วจัดพระอิริยาบถให้อยู่ในท่านั่ง จากนั้นจึงถวายพระกัปปาสิกะสูตร (สายสิญจน์หรือด้ายดิบ) มัดตราสังข์ แล้วเตรียมพระกัปปาสิกะเศวตพัสตร์ (ผ้าฝ้ายสีขาว) ปูซ้อนกันเป็นรูปหกแฉก จากนั้นเชิญพระบรมศพประทับในท่านั่งเหนือผ้านั้น แล้วรวบชายผ้าขึ้นเหนือพระเศียรซึ่งจะปล่อยชายผ้าไว้สำหรับผูกพระภูษาโยงสดับปกรณ์ ห่อด้วยผ้าตั้งแต่พระบาทไปจนถึงพระศอแล้วเหน็บไว้ จากนั้นเชิญพระบรมศพลงพระโกศแล้วหนุนพระปฤษฎางค์ข้างซ้ายขวาหน้าพระบรมศพด้วยพระเขนยนวม (หมอน) กันเอียงโดยรอบ

ขั้นตอนนี้มีการปฏิบัติกันเป็นครั้งสุดท้ายจนถึงงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เมื่อปี ๒๕๒๗ โดยเปลี่ยนมาเป็นการเชิญลงหีบพระศพแทนในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี ๒๕๓๘ เมื่อบรรจุพระบรมศพลงหีบพระศพแล้วก็จะคลุมผ้าตาดทองบนหีบพระบรมศพ แล้วเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นในพระโกศจึงไม่มีพระศพสถิตอยู่

ทั้งนี้ การถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังปฏิบัติตามประเพณีเดิม คือถวายพระเพลิงพระบรมศพพร้อมพระโกศจันทน์ในพระเมรุมาศท้องสนามหลวง ขณะที่การพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้มีการนำเตาเผาไฟฟ้ามาใช้เป็นครั้งแรก

ข้อมูลอ้างอิง :
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๔. ๒๕๓๙.
นนทพร อยู่มั่งมี และ ธัชชัย ยอดพิชัย. ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๑.
เว็บไซต์ สารคดี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น