มอญ 

เป็นชนชาติเจ้าของอารยธรรมอันเก่าแก่ในแผ่นดินพม่า พูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร

ที่มาของคำว่ามอญและรามัญ

นักภูมิศาสตร์อาหรับบางท่านเรียกมอญว่า รามัญประเทศ (Ramannadesa) ซึ่งหมายถึง “ประเทศมอญ” คำนี้เพี้ยนมาจากคำศัพท์โบราณของ”มอญ” คือ Rmen (รามัญ) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกตัวเองของ”มอญ” แต่พม่าเรียก”มอญ”ว่า ตะเลง (Talaings) ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า Talingana อันเป็นแคว้นหนึ่ง ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย

ส่วนนาม รามัญ พบเก่าสุดในมหาวังสะของสิงหล ในสมัยพระเจ้าจานสิตาแห่งพุกาม พบคำนี้ในศิลาจารึกมอญ เขียนออกเสียงว่า รมีง ซึ่งในจารึกนั้น ก็พบคำเรียกพม่าอ่านว่า มิรมา อีกด้วย ส่วนในสมัยหงสาวดี พบจารึกแผ่นทอง เขียนอ่านว่า รมัน คล้ายกับที่ไทยเรียก รามัญ ส่วนในเขตรามัญเทสะ จะเรียกว่า มัน หรือ มูน ซึ่งใกล้กับคำว่า มอญ ในภาษาไทย

ประวัติ

มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ มีอารยธรรมรุ่งเรืองมากชนชาติหนึ่ง จากพงศาวดารพม่ากล่าวว่า “มอญเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่า มาเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล” คาดว่าน่าจะอพยพมาจากตอนกลางของทวีปเอเชีย เข้ามาตั้งอาณาจักรของตนทางตอนใต้ บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสะโตง ซึ่งบริเวณนี้ในเอกสารของจีน และอินเดียเรียกว่า “ดินแดนสุวรรณภูมิ”

ในพุทธศตวรรษที่ 2 ศูนย์กลาง ของ”อาณาจักรมอญ” คืออาณาจักรสุธรรมวดีหรือสะเทิม (Thaton) จากพงศาวดารมอญ กล่าวไว้ว่าอาณาจักรสะเทิมว่า อาณาจักรสะเทิมสร้างโดยพระราชโอรส 2 พระองค์ของพระเจ้าติสสะ แห่งแคว้นหนึ่งของอินเดีย ก่อนปี พ.ศ. 241 พระองค์นำ พลพรรคลงเรือสำเภา มาจอดที่อ่าวเมาะตะมะ และตั้งรากฐาน ซึ่งต่อมาเป็นที่ตั้งของเมือง อาณาจักรสะเทิม รุ่งเรืองมาก มีการค้าขายติดต่ออย่างใกล้ชิดกับประเทศอินเดีย และลังกา และได้รับเอาอารยธรรมของอินเดียมาใช้ ทั้งทางด้านอักษรศาสตร์ และศาสนา โดยเฉพาะรับเอาพุทธศาสนานิกายหินยานมา มอญมีบทบาทในการถ่ายทอดอารยธรรมอินเดีย ไปยังชนชาติอื่นอย่าง ชาวพม่า ไทย และลาว เจริญสูง มีความรู้ดี ทางด้านการเกษตร และมีความชำนาญ ในการชลประทาน โดยเป็นผู้ริเริ่มระบบชลประทานขึ้น ในลุ่มน้ำอิระวดี ทางตอนกลางของประเทศพม่า

พวกน่านเจ้าเข้ามาทองตอนเหนือของพม่า และทำสงครามกับพวกพยู อาณาจักรมอญ ที่สะเทิมขยายอำนาจขึ้นไปทางภาคกลางของลุ่มแม่น้ำอิระวดีระยะหนึ่ง แต่เมื่อ ชนชาติพม่า มีอำนาจเหนืออาณาจักรพยู และได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้ เข้ารุกรานมอญ มอญจึงถอยลงมาดังเดิม และได้สร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1368 ที่ หงสาวดี (Pegu)

พระเจ้าอโนรธา กษัตริย์พม่าแห่งพุกาม ยกทัพมาตีอาณาจักรสุธรรมวดี และกวาดต้อนผู้คน ทรัพย์สมบัติ พระสงฆ์ พระไตรปิฎก กลับไปพุกามจำนวนมาก ต่อมาระหว่างปี 1600-1830 กรุงหงสาวดี ตกอยู่ใต้อำนาจพุกาม แต่กระนั้นพม่าก็รับวัฒนธรรมมอญมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น “ภาษามอญ”ได้แทนที่ภาษาบาลี และสันสกฤตในจารึกหลวง และศาสนาพุทธเถรวาท ได้เป็นศาสนาที่นับถือสูงสุดในพุกาม มอญยังมีความใกล้ชิดกับลังกา ซึ่งขณะนั้นเป็นศูนย์กลาง ของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท และนิกายเถรวาทก็แพร่กระจายไปทั่วเอเชียอาคเนย์

พระเจ้ากยันสิทธะทรงดำเนินนโยบายผูกมิตรกับราชตระกูลของพระเจ้ามนูหะ “กษัตริย์มอญ”แห่งสะเทิม โดยยกพระราชธิดาให้กับเจ้าชายมอญ พระนัดดาที่ประสูติจากทั้งสองพระองค์นี้ ก็ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ พระนามว่า อลองคะสิทธู ในยุคที่พระองค์ปกครอง “อาณาจักรพุกาม”ได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่นที่สุด นอกจากนี้ในสมัยของพระเจ้ากยันสิทธะ ในศิลาจารึกยกย่องไว้ว่า “วัฒนธรรมมอญ”เหนือกว่าวัฒนธรรมพม่าด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 1830 “มองโกล” ยกทัพมาตีพม่า ทำให้มอญได้รับเอกราชอีกครั้ง มะกะโท หรือพระเจ้าฟ้ารั่ว หรือวาเรรุ ราชบุตรเขยของ “พ่อขุนรามคำแหง” ได้กอบกู้เอกราช และสถาปนาราชวงค์ชาน-ตะเลง สถาปนา”อาณาจักรมอญอิสระ” มีศูนย์กลางที่เมืองเมาะตะมะ ซึ่งเป็นเมืองของมอญจนถึงปี พ.ศ. 1912 จากนั้นย้ายกลับไปหงสาวดีตามเดิม และในรัชสมัยพระเจ้าราชาธิราช หงสาวดีรุ่งเรืองจนเป็น ศูนย์กลางทางการค้าที่ใหญ่โต ทางแถบอ่าวเบงกอล มีเมืองท่าหลายเมืองในละแวกใกล้ๆ และอาณาจักรมอญมารุ่งเรือง เจริญสูงสุดในช่วงปี พ.ศ. 2015-2035 สมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ ต่อมาหงสาวดีก็เสียแก่ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ กษัตริย์พม่า ในปี พ.ศ. 2094 จนปี พ.ศ. 2283 สมิงทอพุทธิเกศ ก็กู้เอกราชคืน มาจากพม่าได้สำเร็จ และได้ยกทัพไปตีเมืองอังวะอีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2290 พระยาทะละ ได้ครองอำนาจแทนสมิงทอพุทธิเกศ ขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวาง ทำให้อาณาจักรพม่าสลายตัวลง จนในปี พ.ศ. 2300 พระเจ้าอลองพญา ก็กู้อิสรภาพของพม่ากลับคืนมาได้ ทั้งยังได้โจมตีมอญ มอญตกอยู่ภายใต้อำนาจพม่า จนกระทั่งทุกวันนี

ในปัจจุบัน ชาวมอญรุ่นหลังหันมาใช้ภาษาพม่ากันมาก และมีจำนวนมากที่เลิกใช้ ภาษามอญ จนคิดว่าตนเป็นพม่า อีกทั้งไม่ทราบว่า ตนมีเชื้อสายมอญ จากการสำรวจประชากรมอญในปี ค.ศ. 1931 พบว่ามีจำนวนแค่ 3 แสน 5 หมื่นคน ต่อมาในปี ค.ศ. 1939 ได้มีการก่อตั้งสมาคมชาวมอญ และมีการสำรวจประชากรมอญอีกครั้ง พบว่ามีราว 6 แสนกว่าคน พอต้นสมัยสังคมนิยมสำรวจได้ว่ามีชาวมอญราว 1 ล้านกว่า ชาวมอญที่ยังพูดภาษามอญในชีวิตประจำวันอยู่ มีในหมู่บ้านในเมืองไจก์ขมี และเมืองสะเทิม แต่ในเขตเมืองก็จะพบแต่ชาวมอญที่พูดภาษาพม่าเป็นส่วนมาก

 พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

วงศ์ของอาณาจักรชนชาติมอญนั้น อาจแบ่งได้เป็น 3 ยุค ยุคแรกคือยุคราชวงศ์สะเทิม-สุธรรมวดี มีกษัตริย์ปกครอง 57 พระองค์ เริ่มจากสมัยพระเจ้าสีหราชา มาจนถึงสมัยพระเจ้ามนูหา เชื่อว่ายุคนี้ครอบครองพื้นที่ได้ ทั้งอาณาจักรทวารวดีและอาณาจักรสะเทิม ยุคแรกสิ้นสุดลงเมื่อพระเจ้าอโนรธาแห่งพุกาม ยกทัพมาตีเมืองสะเทิมในสมัยพระเจ้ามนูหา ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไทยบางท่านเชื่อว่าพระเจ้าอโนรธาน่าจะยกมาตีถึงนครปฐม

ยุคที่สอง เป็นยุคราชวงศ์พะโค-หงสาวดี มีกษัตริย์ปกครอง 17 พระองค์ องค์แรก ๆ คือ พระเจ้าสมละและพระเจ้าวิมละ และสิ้นสุดในสมัยพระเจ้าติสสะ ส่วนยุคที่ 3 คือยุคราชวงศ์เมาะตะมะ-พะโค เริ่มจากสมัยพระเจ้าวารีรู หรือพระเจ้าฟ้ารั่ว พระองค์มีมเหสีเป็นราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์ของไทย ต่อมาในสมัยพญาอู ได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ เมืองพะโคหรือหงสาวดี ราชบุตรของพระองค์คือพญาน้อย ซึ่งต่อมาก็คือพระเจ้าราชาธิราช ผู้ทำสงครามยาวนานกับกษัตริย์พม่าในสมัยพระเจ้าซวาส่อแก กับ พระเจ้ามีงคอง ขุนพลสำคัญของพระเจ้าราชาธิราช ก็คือ สมิงพระราม ละกูนเอง และแอมูน-ทยา กษัตริย์องค์สุดท้ายของมอญคือ พระเจ้าพยะมองธิราช ซึ่งพระเจ้าอลองพยาปราบมอญ จนพ่ายในปี ค.ศ. 1757

 วัฒนธรรม

 ภาษาและอักษรมอญ

ภาษามอญ มีการใช้มานานประมาณ 3,000-4,000 ปี เป็นภาษาในในสายโมนิค มีผู้ใช้ภาษานี้อยู่ประมาณ 5,000,000 คน ส่วนอักษรมอญ มีความเก่าแก่ พบหลักฐานในประเทศไทยที่ จารึกวัดโพธิ์ร้าง พ.ศ. 1143 เป็นอักษรมอญโบราณที่เก่าแก่ที่สุด ในบรรดาจารึกภาษามอญที่ได้ค้นพบ ในแถบเอเซียอาคเนย์ เป็นจารึกที่เขียนด้วยตัวอักษรปัลลวะ ที่ยังไม่ได้ดัดแปลงให้เป็น อักษรมอญ พบว่ามีการประดิษฐ์อักษรมอญขึ้น เพื่อให้พอกับเสียงในภาษามอญ ในจารึกเสาแปดเหลี่ยมที่ศาลสูง เมืองลพบุรี และยังพบจารึก จารึกในพุทธศตวรรษที่ 14 ราว พ.ศ. 1314 เป็น ตัวอักษรหลังปัลลวะ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

หลักฐานจารึกในสมัยกลางประมาณ พ.ศ. 1600 เป็นต้นมา บันทึกทั้งภาษามอญและอักษรมอญ ซึ่งพม่าก็รับอักษรมอญมาใช้เขียนภาษาพม่าเป็นครั้งแรก ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 ตัวอักษรได้คลี่คลายจากตัวอักษรปัลลวะ มาเป็นตัวอักษรสีเหลี่ยม ก็คืออักษรมอญโบราณ และเปลี่ยนแปลงขนาดเล็กลงในระยะต่อมา จนในพุทธศตวรรษที่ 21 ก็ได้กลายเป็นอักษรมอญปัจจุบัน ที่มีลักษณะกลม สันนิษฐานว่าเกิดจากการจารหนังสือโดยใช้เหล็กจารลงบนใบลาน มอญปัจจุบันมีอายุ ประมาณ 400 ปีเศษ


ภาษามอญจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเซียติค (Austroasiatic Languages) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันอยู่ในแถบอินโดจีนและทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และเมื่อพิจารณาลักษณะทางไวยากรณ์ ภาษามอญ จัดอยู่ในประเภทภาษาคำติดต่อ (Agglutinative) อยู่ในกลุ่มภาษาตะวันออกเฉียงใต้ (South Eastern Flank Group) นักภาษาศาสตร์ที่ชื่อ วิลเฮม สชมิต (Willhelm Schmidt) ได้จัดให้อยู่ในตระกูลภาษาสายใต้ (Austric Southern family)

พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวถึงภาษามอญไว้ว่า “ภาษามอญ นั้นมีลักษณะเป็นภาษาคำโดด ซึ่งมีรูปภาษาคำติดต่อปน ลักษณะคำมอญ จะมีลักษณะเป็นคำพยางค์เดียว หรือสองพยางค์ ส่วนคำหลายพยางค์ เป็นคำที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาบาลีและสันสกฤต และคำที่เกิดจากการเติมหน่วยคำผสาน กล่าวคือ การออกเสียงของคำซึ่งไม่เน้นการออกเสียงในพยางค์แรก จะสร้างคำโดยการใช้การผสานคำ (affixation) กับคำพยางค์แรก เพื่อให้มีหน้าที่ทางไวยากรณ์ อีกทั้งการใช้หน่วยผสานกลางศัพท์ และการใช้สระต่าง ๆ กับพยางค์แรก ในคำสองพยางค์ ก็จะเป็นการช่วยเน้นให้พยางค์แรกเด่นชัดขึ้นด้วย แต่พยางค์หลังเป็นส่วนที่มีความหมายเดิม”

สรุปคือ ภาษามอญ เป็นภาษาที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน ไม่มีการผันคำนาม คำกริยา ตามกฏบังคับทางไวยากรณ์ ประโยคประกอบด้วย คำที่ทำหน้าประธาน กริยา และกรรม ส่วนขยายอยู่หลังคำที่ถูกขยาย

ในประเทศไทยเอง ก็มีการใช้ภาษามอญในการสื่อสารในชุมชนมอญแต่ละชุมชนในจังหวัดต่างๆ และในแต่ละชุมชนนั้นเองก็มีสำเนียงเฉพาะที่แตกต่างไปในชุมชนที่อาศัยซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากชุมชนอื่นที่ไม่ใช่ชาวมอญซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยในบางชุมชนยังคงมีการสอนลูกหลานให้พูดภาษามอญกัน แต่บางชุมชนภาษามอญก็มีการใช้สื่อสารน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามในจังหวัดสมุทรสาครก็มีชาวมอญจากประเทศพม่าที่อพยพเข้ามาเป็นแรงงานต่างด้าวในจังหวัด ซึ่งได้นำภาษาพูดและภาษาเขียนกลับเข้ามาในชุมชนมอญแถบมหาชัยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้มีการใช้ภาษามอญ รวมไปถึงป้ายข้อความภาษามอญให้พบเห็นโดยทั่วไป

 

ขอบคุณข้อมูลจาก th.wikipedia.org/wiki/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น