ชิงหมิง (qing-ming, อักษรจีนตัวเต็ม: 清明節, อักษรจีนตัวย่อ: 清明节, พินอิน: Qīngmíngjié) หรือ เช็งเม้ง, เชงเม้ง (ตามสำเนียงแต้จิ๋ว)หรือ “เฉ่งเบ๋ง” (ในสำเนียงฮกเกี้ยน) “เช็ง”หรือ”เฉ่ง” หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ และ “เม้ง”หรือ”เบ๋ง” หมายถึง สว่าง รวมแล้วหมายความถึง ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์

เม้งในประเทศจีน เริ่มต้นประมาณ 5 – 20 เมษายน เป็นฤดูใบไม้ผลิ อากาศจะคลายความหนาวเย็น เริ่มเข้าสู่ความอบอุ่น มีฝนตกปรอย ๆ มีบรรยากาศสดชื่น ท้องฟ้าใสสว่าง (เป็นที่มาของชื่อ เช็งเม้ง)

สำหรับในประเทศไทยเทศกาลเช็งเม้ง ถือวันที่ 5 เมษายนของทุกปีเป็นหลัก แล้วนับวันก่อนถึง 3 วัน และเลยไปอีก 3 วัน รวมเป็น 7 วัน (2 – 8 เมษายน) แต่ในปัจจุบันเนื่องจากมีปัญหาการจราจรคับคั่ง เลยขยายช่วงเวลาเทศกาลให้เร็วขึ้นอีก 3 สัปดาห์ (ประมาณ 15 มีนาคม – 8 เมษายน) แต่ในภาคใต้บางพื้นที่ เช่น จังหวัดตรังจะจัดเร็วกว่าที่อื่น 1 วัน ประมาณวันที่ 4 เมษายนของทุกปี

ประเพณีที่สำคัญมากที่สุดของของชาวจีน คือ ไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน ฮวงซุ้ย(แต้จิ๋ว) แต่คนฮกเกี้ยนเรียกว่า บ่องป้าย เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยมีอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อ ที่เน้นเรื่องความกตัญญูเป็นสำคัญ

ตำนานการเกิดเช็งเม้ง

ในยุคชุนชิว องค์ชายฉงเอ่อแห่งแคว้นจิ้นหนีภัยออกนอกแคว้น ไปมีชีวิตตกระกำลำบากนอกเมือง โดยมีเจี้ยจื่อทุยติดตามไปดูแลรับใช้

เจี้ยจื่อทุยมีจิตใจเมตตาถึงขนาดเชือดเนื้อที่ขาของตนเป็นอาหารให้องค์ชายเสวยเพื่อประทังชีวิต ภายหลังเมื่อองค์ชายฉงเอ่อเสด็จกลับเข้าแคว้นและได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองแคว้น นาม จิ้นเหวินกง และได้สถาปนาตอบแทนขุนนางทุกคนที่เคยให้ความช่วยเหลือตน แต่ลืมเจี้ยจื่อทุยไป นานวันเข้าจึงมีคนเตือนถึงบุญคุณเจี้ยจื่อทุย จิ้นเหวินกงเพิ่งนึกขึ้นไป จึงต้องการตอบแทนบุญคุณเจี้ยจื่อทุย โดยจัดหาบ้านให้เขาและมารดาให้เข้ามาอยู่อย่างสุขสบายในเมือง แต่ทว่าเจี้ยจื่อทุยปฏิเสธ

จิ้นเหวินกงได้คิดแผนเผาภูเขา โดยหวังว่าเจี้ยจื่อทุยจะพามารดาออกมาจากบ้าน แต่ผลสุดท้ายกลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด สองแม่ลูกกลับต้องเสียชีวิตในกองเพลิง ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจี้ยจื่อทุย จิ้นเหวินกงจึงมีคำสั่งให้วันนี้ของทุกปี ห้ามไม่ให้มีการก่อไฟ และให้รับประทานแต่อาหารสด ๆ และเย็น ๆ จนกลายเป็นที่มาของเทศกาลวันกินอาหารเย็น หรือ เทศกาลหันสือเจี๋ย (寒食节) ซึ่งเป็นวันสุกดิบก่อนวันเช็งเม้ง 1 วัน

เนื่องจากคนโบราณนิยมถือปฏิบัติกิจกรรมตามประเพณีวันหันสือเจี๋ยต่อเนื่องไปจนถึงวันเช็งเม้ง นานวันเข้าเทศกาลทั้งสองก็รวมเป็นวันเช็งเม้งวันเดียว การไหว้เจี้ยจื่อทุยจึงค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นการไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษแทน

ประเพณีการทำความสะอาดฮวงซุ้ย

เริ่มมาจากการที่พระเจ้าฮั่นเกาจู ปราบดาภิเษกและสถาปนาราชวงศ์ฮั่นขึ้นแล้ว เกิดระลึกถึงบุญคุณบิดา มารดาที่เสียชีวิตไปแล้วที่บ้านเกิด จึงเร่งรัดกลับบ้านเกิด แต่ทว่าป้ายชื่อของฮวงซุ้ยแต่ละที่เลือนลางเต็มทน จากสงคราม พระเจ้าฮั่นเกาจูจึงอธิฐานต่อสวรรค์ด้วยการโปรยกระดาษสีขึ้นบนฟ้าแล้วให้ลมพัดปลิวไป ถ้ากระดาษตกที่ฮวงซุ้ยไหน ถือว่าเป็นฮวงซุ้ยของบิดา มารดาพระองค์ และเมื่อดูป้ายชื่อชัด ๆ แล้วก็พบว่าเป็นฮวงซุ้ยของบิดา มารดาพระองค์จริง ประเพณีการทำความสะอาดฮวงซุ้ยและโปรยกระดาษสีบนหลุ่มศพก็เริ่มมาจากตรงนี้เอง

ประโยชน์ของการไป ไหว้บรรพบุรุษ เทศกาลเชงเม้ง

  1. เพื่อ รำลึกถึงคุณความดี ที่บรรพบุรุษของเราได้ทำ,ดูแลเรา ,ลำบากตรากตรำ ก่อร่างสร้างตัวเพื่อลูกหลานมีความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต
  2. เพื่อให้ลูกหลานที่อยู่กระจัด กระจาย ได้มาเจอหน้ากัน พบปะ เพื่อสร้างความสามัคคี จัดเป็นวันรวมญาติ รวมตระกูลเลยก็ว่าได้ เพราะงั้นจึงควรที่จะนัดไปไหว้พร้อมกัน ( วันและเวลาเดียวกัน )
  3. เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตให้แก่ลูกหลาน ให้เน้นความกตัญญูที่มีต่อบุพการีและบรรพบุรุษ ลูกหลานจึงควรปฏิบัติตาม เป็นการเตือนสติแก่ตนเองว่า ความตายต้องเกิดขึ้นกับทุกคน และเป็นธรรมดาของมนุษย์

ประเพณีปฏิบัติในวัน เช็งเม้ง

การ ไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่สุสานนั้น ต้องไหว้ในช่วงเช้าก่อนเวลา 12.00 น. เมื่อไปถึงสุสานให้ไหว้ศาลเจ้าที่แป๊ะกงเสียก่อนด้วยอาหารคาวหวาน ผลไม้ ขนมอี๋ 5 ที่ 5 ถ้วย เพราะการไหว้เจ้าที่คือการไหว้ธาตุทั้ง 5 โดยจุดธูปไหว้ 5 ดอก บางแห่งมีไหว้เจ้าประตู หรือที่เรียกกันว่า “มึ่งซิ้ง” ต้องไหว้ธูปเพิ่มอีก 2 ดอก ปักที่เสาประตูข้างละดอก
จากนั้นจึงไปที่ ฮวงซุ้ย ทำความสะอาดปัดกวาด ดายหญ้า ปลูกต้นไม้ดอกไม้ อาจลงสีที่ป้ายชื่อให้ดูใหม่ โดยคนตายแล้วลงสีเขียว หรือสีทองขลิบเขียว ส่วนคนเป็นให้ลงสีแดง และมีการกางเต็นท์ไว้กันแดด ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้เมื่อถึงเทศกาลเช็งเม้งจะมีคนมาคอยบริการให้ โดยเสียค่าบริการเท่านั้น

นอกจากนี้ มีธรรมเนียมการนำสายรุ้งมาประดับตกแต่งบนเนินหลุมศพด้วย บรรดาลูกหลานจะนำสายรุ้งสีสันต่างๆ รวมทั้งธงมาตกแต่งเต็มไปหมด ตามธรรมเนียมให้ใช้ กระดาษม้วนสีแดงสำหรับ? สุสานคนเป็น (แซกี) ส่วนสุสานคนตาย (ฮกกี) ใช้หลากสีได้ ส่วนเรื่องธงนี้บ้างบ้านก็ห้ามปักกัน เพราะถือว่าเป็นของแหลมที่ทิ่มแทงเข้าไปบนหลุม อาจทำให้หลังคาบ้านบรรพบุรุษรั่วได้ ซึ่งก็เป็นความเชื่อของแต่ละคน

*** ห้ามวางของตรงแท่นหน้า เจียะปี ( ป้ายหิน ที่จารึกชื่อ บรรพบุรุษ )
เพราะเป็นที่เข้าออกของ วิญญาณบรรพบุรุษ ***

หลังจากนั้นจึงจัดเตรียมของเซ่นไหว้ ในการไหว้ต้องไหว้เทพยดาผืนดิน หรือโท้วตี่ซิ้ง เสียก่อน ด้วยธูป 5 ดอก เพราะถือว่าท่านเป็นเทพเจ้าที่ ของไหว้จะเหมือนกับที่ไหว้แป๊ะกง ต่อมาผู้อาวุโสในบ้านจะเป็นผู้นำกราบไหว้ ด้วยการจุดธูป 3 ดอกไหว้บรรพบุรุษ และต้องไหว้ 3 รอบ (เฉพาะบรรพบุรุษ)

รอจนไหว้ครั้งที่ 3 แล้ว ไหว้จนเทียนใกล้หมดก้าน ลูกหลานตีวงล้อมด้วยหวาย เผา กระดาษเงิน กระดาษทอง ฯลฯ เป็นการกำหนดขอบเขตว่า สิ่งเหล่านี้ลูกหลานส่งให้ บรรพบุรุษของครอบครัว นั้น ๆ เป็นการเฉพาะ ( ผู้ตีวงล้อม ต้องเป็นลูกหลานเท่านั้น ) จึงเผากระดาษเงินกระดาษทอง และมีการจุดประทัดส่งท้าย ถือเป็นการขับไล่สิ่งไม่ดีทั้งหลายไม่ให้มารบกวนบรรพบุรุษ

 

เมื่อ เสร็จพิธีไหว้แล้ว บางครอบครัวอาจรับประทานอาหารร่วมกันที่หน้าหลุมศพ เสมือนเป็นการรับประทานอาหารพร้อมหน้ากับบรรพบุรุษด้วย สะท้อนความเชื่อที่ว่า คนตายนั้นตายไปเพียงร่างแต่วิญญาณยังคงอยู่กับเรา

พิธี เชงเม้ง ผู้อาวุโสจะเป็นผู้นำกราบ เป็นอันเสร็จพิธีบางครอบครัวก็จะมานั่งล้อมวงทานอาหารกันต่อ เพื่อเป็นการแสดงความสมานสามัคคีแก่ บรรพบุรุษ

 

แหล่งที่มาของข้อมูล th.wikipedia.org/wiki

 

 


 


 


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น