เขาคิชกุฏ

เสริมมงคลชีวิต กับการเดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ

ยอด “เขาคิชฌกูฏ” ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี “เขาคิชฌกูฏ” เป็นที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย สูงกว่า 1,050 เมตร จากระดับน้ำทะเล ถือว่าสูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ “รอยพระพุทธบาท” มีลักษณะเป็นรอยบนหินแผ่นใหญ่ มีรอยลึกประมาณ 2 เมตรเศษ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ค้นพบที่ยอดเขาพระบาทห่างจากที่ทำการอุทยานเขาคิชฌกูฏราว 4 กม.

เล่ากันว่า “รอยพระพุทธบาท” นี้ถูกค้นพบโดยนายพรานหาของป่าที่เดินขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏเมื่อปี พ.ศ.2397 เดิมทีนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “พระบาทพลวง” แต่ในปี พ.ศ.2515 พระครูธรรมสรคุณผู้เป็นหลักในการพัฒนาพระบาทพลวง ได้เสนอให้เปลี่ยนไปใช้ชื่อ “เขาคิชฌกูฏ” โดยตามพุทธประวัติ บนยอด “เขาคิชฌกูฏ” เป็นที่ตั้งของพระคันธกุฎี ที่ประทับของพระพุทธองค์ เมื่อครั้งประทับที่เมืองราชคฤห์ เพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระองค์และแสดงถึงความเจริญในพระพุทธศาสนาอย่างสูงส่งของประเทศไทย

ผู้มีจิตศรัทธาต้องใช้ความอึดเดินขึ้นสู่ยอดเขาอีกราว 3 กม. เดินพื้นราบอาจสิวๆ แต่เดินขึ้นเขาอาจไม่ชิลล์อย่างที่คิด แถมยังต้องเบียดเสียดกับผู้คนมากมาย เพราะการเปิดให้ขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ช่วงประมาณปลายเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม (ในปีนี้อย่างไม่เป็นทางการ คือระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 24 มีนาคม 2557) หรือแค่ประมาณ 2 เดือนต่อปีเท่านั้น เลยเป็นธรรมดาที่พุทธศาสนิกชนจะแห่แหนกันไปจนแน่นขนัดทุกครั้ง เพราะศรัทธากันว่าผู้ที่ได้มาสักการะแผ่นหินซึ่งเชื่อว่าประทับรอยพระพุทธบาทไว้ จะได้อานิสงส์แรงกล้า เปรียบได้กับการได้เข้าเฝ้าองค์พระศาสดาถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่

บนยอด “เขาคิชฌกูฏ” ยังมีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติต่างๆ ที่เป็นตำนานและความเชื่อทางพระพุทธศาสนาให้เราได้ทึ่ง เช่น ก้อนหินขนาดใหญ่มีรูปคล้ายกับบาตรพระคว่ำ อยู่ใกล้กับหินรูปรอยพระพุทธบาท ศิลาเจดีย์รอยพระหัตถ์ รอยเท้าพญามาร ถ้ำฤๅษี ลานแข่งรถพระอินทร์ หินที่มีรูปร่างคล้ายเต่า และช้างขนาดยักษ์ เป็นต้น

การเดินทาง
หากวิ่งเส้นถนนสุขุมวิท ถึงทางแยกเข้าตัวเมืองจันทบุรี (สี่แยกเขาไร่ยา) ให้เลี้ยวลงถนนทางน้ำตกกระทิง หรือถนนบำราศนราดูร จากทางแยกเขาไร่ยา ไปถึงน้ำตกกระทิงประมาณ 20 กิโลเมตร เลยวัดระทิงไป 400 เมตร ถึงแยกขวามือไปวัดพลวง เป็นถนนลูกรังระยะทาง 3 กิโลเมตร เมื่อถึงวัดพลวง จะเป็นจุดเริ่มต้นขึ้นไปยังยอดเขา มีรถรับจ้างทดเฟืองพิเศษรับไปส่งถึงจุดที่ใกล้ที่สุด และเดินเท้าต่ออีกประมาณ 40 นาที

ที่มา http://travel.mthai.com/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น